Onlinenewstime.com : PwC เปิดผลสำรวจแรงงานที่ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ น้อยกว่า มีความกังวลต่อผลกระทบ จากการเข้ามาของระบบอัตโนมัติมากที่สุด และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่า
นับว่า ผลสำรวจนี้สวนทางกับแรงงานกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สำเร็จการศึกษา มองว่า การเข้ามาของดิจิทัลจะทำให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านทักษะ และโอกาสในการจ้างงานใหม่ ๆ แนะรัฐส่งเสริมการยกระดับทักษะแรงงานในทุกส่วนงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานในตลาด ให้สามารถแข่งขันได้
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Upskilling Hopes and Fears ของ PwC ที่ทำการสำรวจแรงงานมากกว่า 22,000 รายใน 11 ประเทศทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการเข้ามาของระบบอัตโนมัติ ต่อรูปแบบของงาน และทักษะในอนาคต
ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า 53% ของแรงงานที่ถูกสำรวจ เชื่อว่าระบบอัตโนมัติจะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบของงานอย่างมีนัยสำคัญ หรือทำให้งานที่ทำอยู่ ล้าสมัยภายใน 10 ปีข้างหน้า (มีเพียง 28% เท่านั้นที่รู้สึกว่า ไม่น่าเป็นเช่นนั้น)
ในขณะที่ผู้ถูกสำรวจส่วนใหญ่ หรือ61% มีมุมมองเชิงบวก เกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อการทำงานประจำวัน และ 77% ต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ หรือฝึกฝนทักษะที่มีอยู่ เพื่อปรับปรุงทักษะของตนเอง ให้มีความพร้อมต่อการจ้างงานในอนาคต
อย่างไรก็ดี โอกาสและทัศนคติเกี่ยวกับประเด็นนี้ มีความแตกต่างกันไปอย่างมีนัยสำคัญตามระดับการศึกษา ภูมิศาสตร์ เพศ และอายุของแต่ละคน
ผลกระทบของการศึกษา
รายงานของ PwC พบว่า ผู้ถูกสำรวจ ที่จบการศึกษาระดับปริญญา เป็นกลุ่มคนที่มีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการจ้างงานในอนาคตมากที่สุด แม้จะเชื่อว่า งานของพวกเขาที่ทำอยู่ในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลง อย่างมีนัยสำคัญหรืออาจถูกแทนที่
ในทางตรงกันข้าม มากกว่า 1 ใน 3 หรือ 34% ของแรงงาน ที่ไม่ได้รับการศึกษาหลังจากจบระดับมัธยม หรือไม่ได้รับการฝึกอบรมนอกหลักสูตรกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้รับการเรียนรู้ทักษะทางด้านดิจิทัลใหม่ ๆ เปรียบเทียบกับบัณฑิต ที่จบการศึกษาในระดับวิทยาลัยที่ 17%
โดยแรงงานที่ไม่ได้รับการศึกษา หรือการฝึกอบรมหลังจากจบระดับมัธยมศึกษากลุ่มนี้ ยังมีโอกาสน้อยกว่า ที่จะได้รับการฝึกอบรมจากนายจ้างเช่นกัน (38% ไม่ได้รับโอกาสเปรียบเทียบกับ 20% ของพนักงาน ที่เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา) และพวกเขายังมีความกังวล เกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยี ที่มีต่องานมากกว่า โดย 17% แสดงความกังวลหรือความกลัว
นายริชาร์ด โอลด์ฟิลด์ หัวหน้าสายงาน Global Markets ของ PwC กล่าวว่า “ความไม่ตรงกันระหว่างทักษะที่คนมี กับทักษะที่เป็นที่ต้องการ สำหรับโลกดิจิทัล กำลังกลายเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญ ที่เติบโตรวดเร็วที่สุดของโลก เพราะในขณะที่เทคโนโลยีมีแนวโน้ม ที่จะสร้างงานได้พอ ๆ กับแทนที่ เทคโนโลยีในแต่ละประเภท ก็มีความแตกต่างกันไป และคนก็จำเป็นต้องมีทักษะเพื่อปรับตัวด้วย
ความต้องการในการเรียนรู้ของคนในวันนี้มีมาก แต่โอกาสที่แต่ละคนได้รับนั้น ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งความไม่เท่าเทียมนี้ จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น หากไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากภาครัฐ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และภาคธุรกิจ”
ความแตกต่างทางด้านประชากรศาสตร์
รายงานพบว่า ผู้ชายมีมุมมองที่เป็นบวก เกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีต่องานในอนาคตของพวกเขา มากกว่าผู้หญิง พวกเขายังมีแนวโน้ม ที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ มากกว่า (80% ของผู้ชายที่ถูกสำรวจกล่าวว่า พวกเขากำลังทำเช่นนั้น เปรียบเทียบกับผู้หญิงที่ 74%)
ในทำนองเดียวกัน กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปีมีมุมมองในเชิงบวก เกี่ยวกับอนาคตของดิจิทัลมากกว่ากลุ่มคนในวัยอื่น นอกจากนี้ พวกเขายังได้รับโอกาส ในการฝึกอบรมมากกว่าด้วย เช่น 69% ของกลุ่มคนที่มีอายุระว่าง 18-34 ปีมีความรู้สึกเชิงบวก เกี่ยวกับผลกระทบในอนาคตของเทคโนโลยีที่มีต่องานของพวกเขา เปรียบเทียบกับ 59% ของกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 35-54 ปี และ 50% ของผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป มีเพียง 18% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปีเท่านั้นที่กล่าวว่า ไม่ได้รับโอกาสในการได้เรียนรู้ทักษะทางด้านดิจิทัลใหม่ ๆ จากนายจ้าง เปรียบเทียบกับ คนที่มีอายุระหว่าง 35-54 ปีที่ 29% และผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปที่ 38% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ความเห็นเกี่ยวกับทักษะ ที่ต้องการเรียนรู้ของคนยังแตกต่างกันด้วย โดยในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน มีคนที่ต้องการมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเฉพาะด้าน และในขณะเดียวกัน ก็มีคนที่ต้องการพัฒนาการเรียนรู้ของตน ให้ดีขึ้นและสามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีประเภทต่าง ๆ ได้
นางสาวแครอล สตับบิงส์ หัวหน้าร่วม สายงาน Global People & Organisation ของ PwC ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “ไม่ใช่ทุกคน ที่จำเป็นต้องเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ แต่พวกเขาจำเป็นต้องเข้าใจว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกของการทำงานอย่างไร และจะมีประโยชน์ต่อพวกเขาอย่างไร
ดังนั้น การยกระดับทักษะ คือการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และนี่คือสิ่งที่หลาย ๆ องค์กรกำลังเผชิญอยู่ บ่อยครั้ง ที่มีการตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับประเภทของแรงงานที่ ควรได้รับการยกระดับทักษะ และสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นคือ การที่มีคนหนึ่งคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ในขณะที่คนต้องเผชิญกับชีวิตการทำงาน ที่ยาวนานขึ้น การยกระดับทักษะจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัล จะสามารถช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ แม้จะมีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี เป็นจำนวนล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละปีก็ตาม”
เปรียบเทียบแรงงานในแต่ละประเทศ
เมื่อพิจารณาตลาดต่าง ๆ ที่ทำการสำรวจพบว่า แรงงานในสาธารณรัฐประชาชนจีนและอินเดีย เป็นกลุ่มคนที่มีมุมมองเชิงบวก ต่อผลกระทบของเทคโนโลยีมากที่สุด และแม้จะเชื่อว่างานของพวกเขา จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญมากก็ตาม
แรงงานในภูมิภาคเหล่านี้ ยังได้รับโอกาส ในการยกระดับทักษะ จากนายจ้างมากกว่าที่ 97% และ 95% ตามลำดับ ในทางกลับกันแรงงานในสหราชอาณาจักร และออสเตรเลียกล่าวว่า พวกเขาได้รับโอกาสน้อยที่สุด ในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และมีมุมมองเชิงบวกต่อผลกระทบของเทคโนโลยีน้อยกว่า
แต่ไม่ว่าแรงงาน จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทหรือในเมือง ทุกคนต่างก็มีทัศนคติต่อผลกระทบของเทคโนโลยี โดย 67% ของแรงงานที่อาศัยอยู่ในเมืองเชื่อว่า แนวโน้มของงาน จะปรับตัวดีขึ้นจากการเข้ามาของเทคโนโลยี (เปรียบเทียบกับ 48% ในพื้นที่ชนบท) และ 80% ได้รับโอกาสในการยกระดับทักษะจากนายจ้าง เปรียบเทียบกับ 60% ของแรงงานที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท
นายริชาร์ด โอลด์ฟิลด์ หัวหน้าสายงาน Global Markets ของ PwC กล่าวเสริมว่า “ผลวิจัยของเรา ช่วยทำให้เห็นถึงช่องว่างของโอกาส ในการปรับตัวเข้าสู่โลกในยุคระบบอัตโนมัติ โดยผู้ที่ร่วมทำผลสำรวจของเราส่วนใหญ่ ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดิจิทัลมากกว่า ซึ่งยังเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็น ถึงมุมมองของประชากรโดยรวมได้เด่นชัดกว่าด้วย”
ทั้งนี้ ผลสำรวจถูกจัดทำบนพื้นฐานของ งานวิจัยของ PwC ที่พบว่า 30% ของงานจะตกอยู่ในความเสี่ยงจากการเข้ามาของระบบอัตโนมัติ ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 2030 จากการวิเคราะห์ใน 29 ประเทศ และในขณะเดียวกัน ผลสำรวจซีอีโอประจำปี 2019 ของ PwC ก็ชี้ว่า ความพร้อมของทักษะนั้นเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับซีอีโอมากที่สุดที่ 79%
นางสาววิไลพร กล่าวสรุป “วันนี้การเข้ามาของระบบอัตโนมัติ เอไอ และเทคโนโลยีอื่น ๆ ได้เริ่มส่งผลต่อรูปแบบการทำงานและแรงงาน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะยิ่งเห็นความต้องการทักษะในรูปแบบใหม่ ๆ มีมากขึ้นไปอีก
ฉะนั้น เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ ทั้งในระดับชาติ และ ระดับผู้บริหาร สิ่งหนึ่งที่ PwC ต้องการที่จะผลักดันคือ การยกระดับทักษะให้กับแรงงาน ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนของเรา นอกเหนือจากการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี โดยเราพยายามที่จะยกระดับทักษะ ทางด้านดิจิทัลของพนักงาน ให้เท่าเทียมกันในทุกระดับเพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ในขณะเดียวกัน อยากให้ภาครัฐ สถาบันการศึกษา และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หันมาส่งเสริมการยกระดับทักษะให้แก่แรงงาน โดยรวมของประเทศด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่แรงงานไทย และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ ที่กำลังมุ่งไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น”
ข้อมูลเพิ่มเติม ผลวิจัย Upskilling Hopes and Fears ของ PwC ถูกจัดทำขึ้นโดย Opinium ผ่านการสำรวจความคิดเห็น ของคนจำนวนทั้งสิ้น 22,094 ราย ใน 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ถูกสำรวจอย่างน้อย 2,000 คนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปในแต่ละตลาด ระหว่างวันที่ 12 ถึง 19 กรกฎาคม 2562