Onlinenewstime.com : ทุก ๆ วันเราต้องกินและใช้ทรัพยากรบนโลกมากมายทุกวันในการดำรงชีวิต และในขณะที่ทรัพยากรของโลกหมดไปทุก ๆ วันอาจมีไม่กี่คนที่ตั้งคำถามว่าเรากำลังกินแบบสร้างสรรค์หรือกินแบบทำลายล้างอยู่
หนึ่งในกลุ่มคนที่ร่วมกันผลักดันการกินแบบสร้างสรรค์ เอื้อเฟื้อต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มความหลากหลายให้กับอาหารไทยที่มีความหลากหลายน้อยลงไปทุกที นั่นก็คือกลุ่ม “ธรรมธุรกิจ” ที่มีหัวเรือใหญ่อย่าง ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือที่ทุกคนเรียกว่า อาจารย์ยักษ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ โจน จันใด ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณ จ.เชียงใหม่
ในงาน Sustainability Expo 2022 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่สามที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กับการเสวนาในหัวข้อ “ลดโลกร้อนด้วยการกินแบบ “ยักษ์กะโจน”” อาจารย์ยักษ์ในฐานะประธานที่ปรึกษา บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้เริ่มบอกเล่าให้เห็นภาพว่าการกินมีส่วนสัมพันธ์กับโลกอย่างไรบ้าง โดยกิจกรรมการบริโภคแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
ส่วนที่ 1 คือกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งในด้านนี้มีรายละเอียดมากมาย แต่อาจารย์ยักษ์ได้เริ่มต้นด้วยการยกตัวอย่างปัญหาการทำประมงขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ กุ้ง หอย ปู ปลา และสาหร่ายมาประกอบอาหาร ซึ่งกว่าจะได้มาต้องเผาผลาญพลังงานไปมากมาย กว่าจะออกเรือไปมหาสมุทรจับปลา เรือวิ่ง 1 ชั่วโมง ใช้น้ำมัน100 ลิตร สูญเสียออกซิเจนและสร้างคาร์บอนมากมายในกระบวนการอุตสาหกรรมประมง
ส่วนที่ 2 คือกระบวนการขนส่งและการปรุงก่อนที่อาหารจะเข้าถึงปาก ถ้าอาหาร 1 จาน ต้องปรุง 7 หม้อ ตั้ง 7 เตา ด้วยการปรุงหลายสิ่งอย่างแยกกันแล้วเอามารวมกันเป็นเมนูเดียว ถือเป็นการเผาผลาญพลังงานมากมายเกินควรกว่าจะได้กินอาหารสักจาน ส่วนเรื่องการขนส่ง การผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งแต่ขนส่งมาตามระยะทางเป็นพันเป็นเหมื่นกิโลเมตรเพื่อมากินอีกที่หนึ่ง หรือการกินข้ามโลกแบบนี้ ทำให้เกิดการเผาผลาญมหาศาลจนโลกร้อนและได้รับผลกระทบไปกันไปหมด เพราะฉะนั้นถ้าไม่จำเป็นอย่ากินของที่ต้องผ่านการกระบวนการขนส่งมากจนเกินไป
ส่วนที่ 3 คือการแบ่งปันกันกินอย่างทั่วถึง เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารที่คนได้กินไม่ทั่วถึงกันก็ทำให้เกิดช่องว่าง ช่องว่างทำให้เกิดความขัดแย้ง ความขัดแย้งนำมาสู่สงคราม เกิดการขนอาวุธไปแย่งน้ำมัน แย่งพลังงาน แย่งอาหาร นำไปสู่ปัญหามากมายที่ทำให้โลกร้อนระอุอยู่ทุกวันนี้
ทางออกของการแก้ปัญหาเหล่านี้ ได้รับมติเป็นเอกฉันทน์จากนักวิชาการเกษตรกรรมทั่วโลก ดังที่อาจารย์ยักษ์ขยายความว่า “ตอนนี้องค์กรว่าด้วยอาหารและเกษตรโลกได้ออกนโยบายมาสนับสนุนให้เกิดการกินอย่างทั่วถึง โดยให้น้ำหนักกับเกษตรกรและประมงรายเล็ก หรือที่เรียกว่า Small Scale Farm ถ้าเกษตรกรรายเล็ก ๆ แข็งแรง เขาจะแจกกันกินทั้งหมู่บ้านทำให้ไม่มีใครอดประกอบกับผลจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้นักวิชาการทั้งโลกยอมรับว่าระบบการผลิตอาหารที่ทำลายล้างโลกอยู่นี้ทำให้โลกร้อนขึ้น ดังนั้นจึงต้องสนับสนุนเอาจริงเอาจังกับผู้ผลิตรายเล็กไม่ว่าจะอยู่บนบกหรือในน้ำ เพราะมันเป็นทางรอดของมนุษยชาติและเป็นการแก้ปัญหาโลกร้อนไปด้วยพร้อมกัน
ยกตัวอย่างชาวประมงรายย่อย เขาจับปลา เขาไม่ได้จับแบบทำลายล้าง เขาจับแล้วเขาอนุรักษ์ลูกกุ้ง ลูกปลา เขาจึงอยู่กันมาได้ 5,000 ปี แต่พอเราเข้าสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม การทำประมง ทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ก็แทบไม่เหลืออะไรเลย ป่าหายหมด สุดท้ายเราจึงต้องมากินให้ป่ามันเกิด”
เสริมด้วยมุมมองด้านการ “กินน้อยชนิด” ลงไปเรื่อย ๆ ที่นำไปสู่ปัญหารอบด้านจาก โจน จันได ประธานกรรมการบริหาร บ.ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด โดยอธิบายอย่างชัดเจนดังนี้ “ปัญหาความไม่ยั่งยืน ปัญหาโลกร้อน ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทุกวันนี้ สาเหตุหลัก ๆ เกิดมาจากการกินเป็นหลัก การกินที่เกิดปัญหาในทุกวันนี้เกิดมาจากการเรียนโภชนาการที่บอกว่าต้องกินโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ ทุกคนก็กินโปรตีนเป็นหลักเพราะอยากตัวสูง มันคือการใช้ข้อมูลทางวิชาการแบบจำกัด คนจำนวนมากจึงกินกันแต่เนื้อ นม ไข่ กินนาน ๆ เข้า เกิดมาเป็นวัฒนธรรม กินกันแต่โปรตีน ไม่มีใครกังวลว่ากินเกลือแร่และวิตามินพอมั้ย
ซึ่งปัจจัยนี้นำไปสู่การกินของน้อยชนิดลงไปเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้ คนไทยกินแต่ไก่ ไข่ หมู เพราะรัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ผลิตสิ่งเหล่านี้ 3 อย่างนี้ สิ่งเหล่านี้โตมาด้วยข้าวโพดและมันสำปะหลัง เราจึงเห็นชาวบ้านโค่นป่าเพื่อหาพื้นที่เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ยิ่งคนกินไก่ ไข่ หมู มากขึ้นเท่าไหร่ ป่าก็ยิ่งลดลง ๆ ผลกระทบที่ตามมาคือหน้าดินหาย ซึ่งหน้าดินหรือดินร่วนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติใช้เวลาเป็นร้อยปีเป็นพันปีจึงจะสร้างขึ้นมาได้ 1-2 นิ้ว พอเราโค่นป่า ไฟเผา หน้าดินหายไปเลย 1 นิ้ว
พฤติกรรมการกินของคนที่น้อยชนิดลงไปเรื่อย ๆ จึงทำให้ระบบนิเวศพังทลายลง ความสมดุลสูญหายไป การกินน้อยชนิดแต่ปริมาณมากขึ้นทำให้ในร่างกายมีแต่ไก่ ไข่ หมู กับข้าว เราได้สารอาหารพวกนี้มากเกินความจำเป็น แต่เราขาดสารอาหารที่จำเป็นกับเรา สุขภาพก็แย่ลง คนเป็นโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเชื้อโรคมากขึ้น เช่น มะเร็ง หัวใจ และอื่น ๆ
เมื่อมองภาพรวมถึงได้เห็นว่าการกินทำให้เกิดผลกระทบมากมายบนโลกใบนี้ เราจะเริ่มเห็นสงครามเกิดบ่อยขึ้นรุนแรงขึ้น น้ำท่วม ฝนแล้ว พายุถล่ม โลกร้อน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกันหมด เพราะโลกนี้ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด
การกินน้อยชนิดลงไปเรื่อย ๆ จึงกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของโลกทุกวันนี้ ยกตัวอย่างป่าฝนในอาร์เจนติน่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด หดหายลงไปทุกปี เพราะเขาถางป่า เลี้ยงวัว แล้วส่งเนื้อวัวไปขายที่อเมริกา คนอเมริกันกินเนื้อวัวเยอะมาก แค่คนอเมริกันกินเนื้อวัวประเทศเดียว ป่าอาร์เจนติน่าก็หายหมดแล้ว
สำหรับคนไทยเรา 30 ปีย้อนหลัง กินปลาเป็น 200 ชนิดต่อปี กินผักมากกว่า 100 ชนิดต่อปี ปัจจุบันเหลือแค่ปลาดุก ปลานิล และปลาทับทิม 3 อย่างนี้ เลี้ยงด้วยข้าวโพดเป็นหลักและปลาเล็กปลาน้อยผสมนิดหน่อย”
ประเด็นเหล่านี้ย้อนกลับไปสู่ต้นตอของปัญหานั่นก็คือกระบวนการผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังที่ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณฉายให้เห็นภาพที่ชัดเจนกว่าเดิมถึงต้นทุนในอุตสาหกรรมอาหารที่ไม่มีใครพูดถึง
“คนทั่วไปจะคิดว่าอาหารมีราคาเท่าไหร่ ไก่กิโลละเท่าไหร่ คนผลิตคิดว่าลงทุนไปเท่าไหร่ แต่การผลิตอาหารเหล่านี้มีต้นทุนซ่อนเร้นอยู่ มีชาวบ้านจำนวนมากต้องไปถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพด ถ้าคนเหล่านั้นถูกกรมป่าไม้จับ ไม่มีใครไปช่วยเขา ถ้าไม่ถูกจับเขาก็ฉีดยาฆ่าหญ้าใส่ปุ๋ยแล้วก็เป็นโรคจากยาฆ่าหญ้าตาย ปลูกเสร็จแล้วก็ขายราคาต่ำกว่าทุนอีก เพราะราคาตลาดมันอยู่แค่นั้น นั่นคือต้นทุนที่เรามองข้าม และสร้างหายนะต่าง ๆ ทุกวันนี้ พฤติกรรมการกินของคนไทยที่น้อยชนิดลงไปเรื่อย ๆ นี้ทำให้พื้นที่ป่าหายไปจนเหลือไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์แล้ว สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือการกินที่ผิดปกติของเราที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาความไม่ยั่งยืนบนโลกนี้”
ทั้งหมดนี้คือที่มาของแบรนด์ “ยักษ์กะโจน” ที่เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ขาย และร้านอาหารเกษตรอินทรีย์ที่เริ่มกระจายให้เห็นในกรุงเทพฯ ซึ่งทั้งสองผู้ร่วมก่อตั้งยืนยันว่าการกินอาหารภายใต้แนวคิดและการผลิตแบบยักษ์กะโจนจะสามารถช่วยสร้างป่าและลดโลกร้อนได้จริง อาจารย์ยักษ์ได้อธิบายให้เห็นภาพโดยยกตัวอย่างจากอาหารที่ขายในร้านว่า “เริ่มตั้งแต่ข้าว ข้าวของเรามาจากเกษตรกรรายเล็กที่ผ่านการอบรมของเรา เงื่อนไขที่ 1 คือ ไม่ฆ่าหญ้า ไม่ละเมิดศีลข้อที่ 1 เพราะยาฆ่าหญ้ากว่าจะได้มาก็ต้องเจาะพื้นโลก ขุดเอาน้ำมันขึ้นมาสกัดสร้างเป็นยาฆ่าหญ้า เงื่อนไขต่อมาคือไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมี เพราะกว่าจะได้ปุ๋ยมาก็เหมือนยาฆ่าหญ้า ต้องเจาะพื้นโลกเอาน้ำมันมากลั่น มีรายละเอียดเยอะแยะกว่าจะได้ปุ๋ยขึ้นมา สมาชิกของเราต้องไม่ใช้กระบวนการผลิตที่ไปทำลายโลก
ส่วนปุ๋ยของเราได้มาจากการหมักใบไม้ ใบไม้ก็มาจากต้นไม้ที่เราปลูกรอบบ้าน เราปลูกป่ารอบบ้าน กระบวนการนี้ทำให้ดินสมบูรณ์ ดินฟู มีความหลากหลาย มีจุลินทรีย์ ต้นไม้ก็มีความหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน ช่วยเก็บคาร์บอนไว้ในต้นไม้ เก็บในดิน ลองเอาเทอร์โมมิเตอร์ไปวัดจะรู้เลยว่าสวนแบบเราเย็นกว่าไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด 5-10 องศาเซลเซียส สามารถลองวัดได้เลย ว่าเราช่วยทำให้โลกเย็นได้จริง ๆ”
ทั้งนี้โจนก็ได้กล่าวเสริมว่า ไม่ต้องกินอาหารของยักษ์กะโจนก็ได้ ขอแค่กินอาหารอินทรีย์ก็ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนสิ่งแวดล้อมแล้ว “ทันทีที่คุณกินอาหารเกษตรอินทรีย์เข้าไป นั่นหมายความว่าคุณได้ช่วยสร้างป่าแล้ว และนั่นคือการให้ชีวิตและการให้ชีวิตสำคัญกว่าการให้ทุกอย่างบนโลกนี้ การกินจึงมีความสำคัญมาก ทุกครั้งที่กินอะไรเข้าไป เราควรรู้ที่มาว่าอาหารที่เรากินมาจากไหน ปลูกยังไง ขนส่งยังไง ทุกวันนี้คนจำนวนมากไม่รู้ที่มาว่าตัวเองกินคืออะไร กินแล้วเจ็บป่วย แล้วก็ทำลายทุกอย่าง
ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ทั้งสองคาดหวังไม่ใช่กำไรทางธุรกิจมหาศาล แต่คือการสร้างโลกที่น่าอยู่ สร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้เกษตรกรรุ่นหลัง ส่วนผู้บริโภคก็ได้กินอาหารคุณภาพดีและอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
“เราต้องการให้ดินกลับมามีชีวิต ให้น้ำกลับมาใส พืชพรรณกลับมาหลากหลาย ถ้าเราสนับสนุนการกินแบบนี้เกษตรกรก็จะหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น อาหารก็จะหลากหลายมากขึ้น และมันก็กลับมาดีที่ตัวเราเองผมเองเป็นเกษตรกร ผมคาดหวังว่าวันหนึ่งผมอยากเห็นเกษตรกรอยู่ได้จริง ผมอยากจะเห็นคนธรรมดาลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่างเพื่อแก้ปัญหา เป้าหมายหลักของธรรมธุรกิจคือเราต้องการแก้ปัญหา ปัญหาที่คนปลูกอยู่ไม่ได้ เกษตรกรลดจำนวนลงทั่วโลก คนกินก็กินขยะเป็นอาหาร พวกเราจึงอยากทำตรงนี้ เพราะเราหวังว่าลูกหลานเราจะมีอาหารดี ๆ มีแผ่นดินสบาย ๆ อยู่อาศัย มีร่มเงาเย็น ๆ ให้ได้พัก เราอยากทำให้โลกน่าอยู่ คนมีความสุขมากกว่าทุกวันนี้” โจน กล่าวทิ้งท้าย
ส่วนอาจารย์ยักษ์ก็มุ่งหวังให้อาชีพเกษตรกรไทยยั่งยืนและอยู่ได้ด้วยตนเอง “ระบบเกษตรกรรมจะต้องยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน เกษตรกรต้องไม่ทิ้งพ่อทิ้งแม่แล้วมาทำงานในเมือง เกษตรกรจะต้องโตที่นั่น พัฒนาที่นั่น เราอยากเห็นความยั่งยืนแบบนี้ เพราะความยั่งยืนอยู่ที่คน ไม่ได้อยู่ที่ที่ดิน”