fbpx
News update

จากเวทีเสวนาออนไลน์ “ปิดเมือง…ต้องไม่ปิดโลกการเรียนรู้ของเด็ก : ตอน ปลดล็อคเด็กเล็กจากเรียนหน้าจอ” แนะเด็กเล็ก-เด็กปฐมวัยไม่เหมาะเรียนหน้าจอ

Onlinenewstime.com :  สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “ปิดเมือง…ต้องไม่ปิดโลกการเรียนรู้ของเด็ก : ตอน ปลดล็อคเด็กเล็กจากเรียนหน้าจอ”

เปิดประเด็นถกปัญหา สถานการณ์เรียนออนไลน์ในกลุ่มเด็กเล็ก พร้อมหาทางออกของแนวทางการจัดการศึกษา และการเรียนรู้ในยุค New Normal โดยมี นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และประธานมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยน ร่วมกับเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก คุณครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และผู้ปกครองจากครอบครัวทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด

คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ได้เปิดประเด็น ถึงที่มาของการเสวนาออนไลน์ในครั้งนี้ว่า “สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบถึงการศึกษา และการเรียนรู้ของเด็ก

โดยเฉพาะช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสของการที่ทั้งโรงเรียน และผู้ปกครอง ต่างคร่ำเคร่งกับการเตรียมพร้อมการเรียนรู้ให้กับเด็ก ผ่านทางหน้าจอทีวี และการเรียนออนไลน์

ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างขึ้น มีการสำรวจพบว่าเด็ก ๆ ในหลายครอบครัว ใช้เวลาหน้าจอเพิ่มขึ้นถึง 7 ชั่วโมงต่อวัน กลุ่มผู้ปกครองเกิดความเชื่อว่า การปล่อยเด็กทิ้งไว้ให้อยู่กับหน้าจอ ดีกว่าการให้เด็กออกไปเสี่ยงรับเชื้อโควิด-19

ดังนั้น จุดประสงค์ของการเสวนาออนไลน์ครั้งนี้ จึงเป็นไปเพื่อเป็นการรับฟังเสียงผู้เกี่ยวข้อง นำสู่การหาทางออก และการแก้ไขปัญหา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กให้เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด โดยจะเน้นประเด็นไปที่เด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยสำคัญ ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ว่าเหมาะสมหรือไม่ กับการให้เด็กต้องเรียนรู้ผ่านหน้าจอ”

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขและประธานมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน ได้กล่าวแสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า “การเรียนรู้ผ่านหน้าจอมี 2 แบบคือการเรียนออนไลน์ และการเรียนออนแอร์คือการเรียนผ่านทีวี

สำหรับเด็กเล็กและเด็กปฐมวัย ด้วยวัยนั้น ไม่เหมาะจะเรียนออนไลน์ ที่ผ่านมา จึงมีการให้เด็กเล็กเรียนรู้ผ่านออนแอร์หรือทีวี ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เป็นไปในลักษณะ Passive ไม่ใช่ Active จึงเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณภาพต่ำมาก

ทั้งนี้ การไปโรงเรียน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กเล็ก เพราะการเสริมสร้างพัฒนาการ และสมรรถนะการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยทุกด้าน จำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้ แบบมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและเด็ก

นอกจากนี้โรงเรียนยังมีส่วน ในการสร้างพัฒนาการทางสังคม ซึ่งเป็นการเรียนรู้ ที่ไม่มีอยู่ในตำราหรือหนังสือ และในอีกด้านโรงเรียนยังเป็นสวัสดิการของสังคม เมื่อเด็กไปโรงเรียน เขาจะได้ทานอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ได้ดื่มนม หรือในกรณีที่เด็กได้รับการละเมิด หรือความรุนแรงในครอบครัว โรงเรียนจะเป็นกลไกสำคัญ ที่ช่วยดูแลตรงนี้ได้เป็นอย่างดี”

อย่างไรก็ตาม คุณหมอยงยุทธยังได้เน้นย้ำว่า

เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องยอมรับความจริงว่า การศึกษาของเด็กในยุคโควิด-19 ต้องปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal เช่นเดียวกัน การจัดการความปลอดภัยทั้งเรื่องการใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง เป็นเรื่องสำคัญ

โรงเรียนจำเป็นต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการการเรียนรู้  เด็กจะไปโรงเรียนในระยะเวลาที่สั้นลง อยู่บ้านมากขึ้น ขณะเดียวกันพ่อแม่ต้องทบทวนตัวเอง และก้าวเข้ามามีบทบาท ในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับลูกมากยิ่งขึ้น

โดยคุณหมอยงยุทธ ได้แนะนำวิธีการจัดตารางเวลาเรียนรู้ให้เด็กอย่างสมดุล ด้วยการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ 3 รูปแบบผสมผสานกัน “เวลาที่เด็กอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ตอนนี้ ที่อยู่บ้านทั้งวัน หรือในอนาคตที่ จะไปโรงเรียนร่วมกับอยู่บ้าน ขอให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยจัดตารางเวลา โดยบรรจุกิจกรรมสร้างสรรค์ 3 รูปแบบผสมผสานกัน ได้แก่

1. การเล่นแบบอิสระ เปิดโอกาสให้เด็กคิดเอง ว่าเขาอยากทำอะไร เล่นอะไร การเคลื่อนไหวทางกายอย่างอิสระ การทำงานศิลปะแบบต่างๆ ฯลฯ

2. ฝึกทักษะชีวิต ผ่านกิจวัตรประจำวันร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ เช่น การทำงานบ้าน เด็กจะได้เรียนรู้วินัย ความรับผิดชอบ ฯลฯ  

3. กิจกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้ทางอ้อม เช่น การอ่านหนังสือ การเขียนไดอารี่ ฯลฯ วิธีนี้จะช่วยให้เด็กบริหารเวลาได้ ไม่ต้องจมอยู่กับหน้าจอตลอดทั้งวัน”

ด้านคุณพ่อคุณแม่ ตัวแทนครอบครัวทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด รวมถึงคุณครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ได้กล่าวตรงกันว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เด็ก ๆ ส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กเล็ก จะมีปัญหาเมื่อต้องเรียนออนไลน์ เด็กจะเบื่อและไม่สนุก

คุณพ่อคุณแม่ จึงหันมาส่งเสริมจัดการเรียนรู้ให้เด็กด้วยตัวเอง ทั้งในรูปแบบการเรียนรู้ในกิจวัตรประจำวัน เข้าสวน ขุดดิน ปลูกผัก ทำอาหารกับคุณพ่อคุณแม่ ฯลฯ และการปล่อยให้ลูกได้เล่นอิสระ

ทั้งนี้เด็ก ๆ ในเขตเมือง จะมีข้อจำกัดมากกว่าเด็กต่างจังหวัด ในเรื่องพื้นที่ของการเล่น คุณครู ศพด.เป็นกลไกสำคัญ ที่จะทำงานร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจ สามารถจัดกิจกรรมเล่นกับเด็กๆ ได้ แม้ว่าจะเป็นการเล่นในบ้านก็ตาม

ขณะที่คุณประสพสุข โบราณมูล ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ได้กล่าวข้อเสนอ ต่อกระทรวงศึกษาธิการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า “ควรมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่า  ยกเลิกการเรียน DLTV และการเรียนออนไลน์ของเด็กเล็กและเด็กวัยประถม  ควรเน้นส่งเสริมการเล่นอิสระ และเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตตามบริบทท้องถิ่น  

ขณะเดียวกัน ก็ควรจัดทำเนื้อหาการสอนออนไลน์ให้กับผู้ปกครอง เรื่องของการเล่น เพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้ในเด็ก ส่งเสริมให้ผู้ปกครองเป็นผู้ดูแลการเล่นหรือ Play worker ให้กับลูก

เพื่อให้เด็ก ๆ เติบโตเรียนรู้ด้วยความสุข ตามวัยและธรรมชาติ  รวมถึงการให้สิทธิครู ผู้ปกครอง และชุมชน ออกแบบการเรียนรู้ ที่มีรูปแบบที่หลากหลายตามบริบทท้องถิ่น และควรให้ทดแทนเป็นรายวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตเลย”