Onlinenewstime.com : จีนและอินโดนีเซียได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MoU) ในการสานความร่วมมือมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและความมั่นคงทางไซเบอร์ โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่านี่เป็นข้อตกลงฉบับแรกทางด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ที่จีนลงนามกับต่างชาติ
ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการลงนามในระหว่างที่ นายหวัง อี้ (Wang Yi) สมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางไปยังประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ โดยนายหวังกล่าวว่า ทั้งสองประเทศควรร่วมกันสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้และสนับสนุนความมั่นคงทางไซเบอร์ไปด้วยกัน
ข้อตกลงระหว่างองค์กรไซเบอร์และคริปโตแห่งชาติอินโดนีเซีย (National Cyber and Crypto Agency of Indonesia) และ องค์กรการปกครองบนโลกไซเบอร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Cyberspace Administration of China) ระบุว่า ทั้งสองจะร่วมกันสนับสนุนนโยบายที่เคารพหลักการอธิปไตยบนโลกออนไลน์ และทำงานร่วมกันเพื่อความสำเร็จแห่งพหุภาคี ระบบการจัดการอินเทอร์เน็ตที่เป็นประชาธิปไตยและโปร่งใส ความปลอดภัยของข้อมูล และสร้างโลกออนไลน์ที่สงบ มั่นคง เปิดกว้าง ให้ความร่วมมือกัน มีความรับผิดชอบ และเป็นระเบียบ รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยรวม
นายปรัถมา เปอร์ซาดฮา (Pratama Persadha) ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งสถาบันค้นคว้าวิจัยทางไซเบอร์เพื่อการสื่อสารและศูนย์วิจัยความปลอดภัยทางข้อมูลแห่งอินโดนีเซีย หรือ CISSReC กล่าวว่าความร่วมมือของทั้งสองประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ตราบใดที่ข้อตกลงนั้นส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย
นอกจากนี้ จีนเองก็ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ผ่านการทำงานร่วมกับบริษัทด้านเทคโนโลยีหลากหลายแห่ง เขายังกล่าวต่อด้วยว่า โดยหลักการแล้ว อินโดนีเซียจะต้องทำตัวเป็นกลาง เพราะคาดว่าจะต้องมีแรงกดดันจากทางอเมริกาอย่างแน่นอน ทั้งนี้ อินโดนีเซียในฐานะประเทศอธิปไตยนั้นสามารถร่วมมือกับใครก็ได้ ตราบใดที่เรื่องนั้นส่งผลดีต่อประชาชนของประเทศ
ขณะเดียวกัน นายโอนโน่ ดับเบิลยู เพอโบ (Onno W Purbo) ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีกล่าวว่า การที่อินโดนีเซียร่วมมือกับจีนนั้นไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด ตราบใดที่อินโดนีเซียยังมีความเป็นอิสระ “เราสามารถทำงานร่วมกันได้ แต่ต้องไม่พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป หรือจีน เพราะว่าอินโดนีเซียพยายามที่จะเป็นอิสระด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองไปพร้อมกัน”
นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมคาดว่าข้อตกลงนี้จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของทั้งสองฝ่ายในเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ รวมถึงข้อกำหนดในด้านการเปิดกว้างทางการสื่อสารระหว่างกัน และที่สำคัญคือทั้งสองประเทศ จะต้องไม่ขอให้บริษัทในประเทศของตนเปิดช่องว่างให้ข้อมูลรั่วไหลไปสู่อีกประเทศโดยเด็ดขาด
ด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศที่มีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ฯ อินโดนีเซียจึงเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การบรรลุข้อตกลงในครั้งนี้น่าจะส่งผลต่อประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคไม่มากก็น้อย และคาดว่าประเทศที่มีความเป็นกลางทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในเขตภูมิภาคนี้ก็น่าจะเดินตามรอยด้วย
โดยนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรายหนึ่งให้ความเห็นว่า ข้อตกลงนี้จะเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคได้เห็นว่าการร่วมมือกันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายได้อย่างไรบ้าง เพราะว่าหลายประเทศมีความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจกับจีนอยู่แล้ว