fbpx
News update

100 อันดับ จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมของทั่วโลก

Onlinenewstime.com : การแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้จะทำให้หลายคนหวาดกลัว แต่ก็ไม่สามารถหยุดการเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนได้ เมืองใหญ่ต่างๆทั่วโลก เช่น ฮ่องกง กรุงเทพฯ และลอนดอน รั้งอันดับผู้นำ ในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวมาเป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี และความเคลื่อนไหวของอันดับอื่นๆ ก็แสดงให้เห็นแนวโน้มการเดินทางที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นก่อนสถานการณ์ COVID-19

รายงานการเดินทางปี 2019 ของ Euromonitor International พบแนวโน้มที่ชัดเจนว่า หากมีความปลอดภัยในการเดินทางระหว่างประเทศ นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะมุ่งหน้าไปที่ไหนบ้าง โดยแนวโน้มเหล่านี้ นำมาจากข้อมูลปลายทางกว่า 400 แห่งทั่วโลก รวบรวมไว้เมื่อกลางปี ​​2019 โดยมีปัจจัยครอบคลุมนักเดินทางจากต่างประเทศหลายล้านคน ที่อยู่ปลายทางยาวนานกว่า 24 ชั่วโมง

ภาพรวมปลายทางที่นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะเดินทางไปสัมผัสหลังการระบาดสิ้นสุดลง

แม้อันดับต้น ๆ ของการจัดอันดับจะค่อนข้างคงที่ ใกล้เคียงกับไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ 2 เมืองที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาอย่างน่าประทับใจ คือ ปารีส และ อิสตันบูล โดยสามารถสร้างรายได้ระหว่างปี 2018 – 2019 อย่างมีนัยสำคัญ และมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20.6% และ 37.2% ตามลำดับ

ข้อสังเกตเพิ่มเติมก็คือ มีเมืองในทวีปอเมริกาเหนือเพียงแห่งเดียวที่ติด 1 ใน 10 อันดับแรก นั่นก็คือ มหานครนิวยอร์ก ในขณะที่เมืองต่างๆในทวีปเอเชีย มีจำนวนถึงครึ่งหนึ่งใน Top 10 และ 2 เมืองใน 10 อันดับแรกตั้งอยู่ในประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฮ่องกงจะติดอยู่ใน 100 อันดับแรก แต่ด้วยความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ลดลงอย่างเห็นได้ชัดถึง 4.2% จากปี 2017 – 2019

การเปลี่ยนแปลงอันดับที่ใหญ่ที่สุดใน 10 อันดับแรก ได้แก่ มาเก๊า และอิสตันบูล ซึ่งทั้งสองเมืองนั้น มีการเติบโตที่ตัวเลข 2 หลักระหว่างปี 2013 ถึง 2018 โดยเฉพาะมาเก๊าที่เพิ่มขึ้นถึง 19.0%

นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกต จากข้อมูลที่รวบรวมในปี 2019 คือ ลอนดอน ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ลงไปสู่อันดับที่ 5 ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ มาจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจาก Brexit (ข้อตกลงที่ประเทศในสหราชอาณาจักร ทั้ง 4 ประเทศ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ไอร์แลนด์เหนือ จะขอแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ) และข้อจำกัดด้านวีซ่า

แนวโน้มของอินเดียและญี่ปุ่น

รูปแบบการเดินทางของเมืองอันดับต่อจาก Top 10 ก็มีแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงมากเช่นกัน เมืองต่างๆในเอเชียกำลังได้รับความนิยมมาก และก้าวขึ้นสู่ 100 อันดับแรกอย่างรวดเร็ว ถือเป็นการส่งสัญญาณความเปลี่ยนแปลงของภาพรวมทั่วโลกก่อนจะเกิดวิกฤตโควิด

ยกตัวอย่างญี่ปุ่น ที่เมืองของญี่ปุ่นจำนวน 5 เมืองขึ้นมาอยู่ใน 100 อันดับแรก ไต่สูงมา 352 ลำดับจากปี 2013 โดยเมืองที่มีอันดับต้นๆ มีอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉลี่ย 17.8% จากปี 2017 ถึง 2019 ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่หากว่าญี่ปุ่นทำได้ดีพอ แนวโน้มนี้จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคต

ในขณะเดียวกัน อินเดีย ก็มีลักษณะการเติบโตที่ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น โดยเมืองของอินเดียจำนวน 7 แห่งขึ้นมาใน 100 อันดับแรก เพิ่มขึ้นถึง 229 ลำดับ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 44.6% จากปี 2017 – 2019 การเติบโตบางส่วนเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เดลี ที่สร้างความเติบโตของอัตรานักท่องเที่ยวถึง 49.6% ตั้งแต่ปี 2017

ก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 มีการคาดการณ์ว่า เดลีจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จในการก้าวกระโดดจากอันดับที่ 11 ในปัจจุบัน ด้วยความนิยมของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อินเดียได้รับความสนใจอย่างมาก ในชื่อเสียงเรื่องการพักผ่อน โยคะ และอายุรเวท ซึ่งเดลี เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังสถานที่สำคัญทั่วอินเดียตอนเหนือ ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนนักเดินทางเข้าเมือง

เอเชียหรือยุโรป ?

จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เอเชียยังคงเป็นผู้นำในปลายทางท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาค ตามมาด้วยยุโรป

ตั้งแต่ปี 2013 จำนวนเมืองของเอเชีย ที่มีนักท่องเที่ยวใน 100 อันดับแรก เพิ่มขึ้นจาก 34 เป็น 43 นอกจากนี้การเดินทางขาออกในเอเชีย ก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน เป็นผลจากแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวของยุโรปและอเมริกา ซึ่งพุ่งเป้าไปที่นักเดินทางชาวเอเชีย บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเช่น WeChat

ทำไมการจัดอันดับจึงมีความสำคัญอย่างมาก

ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-10 การท่องเที่ยวถือเป็นภาคเศรษฐกิจชั้นนำ ที่มีความยืดหยุ่น สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

สถิติในปี 2019 มีผู้คนถึง 1.5 พันล้านคน เดินทางไปต่างประเทศ และคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 จำนวนนักท่องเที่ยวข้ามแดน อาจเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 พันล้าน และหลายๆเมืองใหญ่จะมีโอกาสได้พึงพาเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวมากขึ้น 

ตามรายงานของ World Travel and Tourism Council เมืองต่างๆเช่นมาเก๊า แคนคูน มาร์ราเกช และลาสเวกัสล้วนต่างพึงพิงรายได้จากการท่องเที่ยวโดยตรง และตัวเลขของรายได้นี้ มีผลสำคัญต่อตัวเลข GDP ปี 2018 GDP ของมาเก๊ามากกว่า 50% มาจากการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับ Cancun ที่เกือบครึ่งหนึ่งของ GDP มาจากนักท่องเที่ยวเช่นกัน

อินเดียและฟิลิปปินส์ ก็พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นพิเศษ โดยที่อินเดียมีอัตราของงานที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว เฉลี่ย 2 งานต่อนักท่องเที่ยวแต่ละคน และฟิลิปปินส์ก็มีอัตรา 1 งานต่อนักท่องเที่ยวหนึ่งคน

แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ ?

ข้อเท็จจริงจากนักเดินทางหลายล้านคน แสดงถึงความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่ชัดเจน และในทางกลับกันนักท่องเที่ยวเหล่านี้ ก็เป็นพลังสำคัญสำหรับจุดหมายปลายทางต่างๆ และเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 แน่นอนว่าได้ทำลายวงจรเดิมๆไปอย่างราบคาบ โลกส่วนใหญ่หยุดชะงักลง ตั้งแต่ต้นปี 2020

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงเงื่อนไขของเวลา ก่อนที่จะมีการเปิดโลกขึ้นอีกครั้ง

แม้ว่าการเดินทางในอนาคตอาจมีความแตกต่างไปอย่างมาก แต่เสน่ห์ของการท่องเที่ยว ไม่หายไปง่ายๆ แน่นอน เชื่อว่านักเดินทางที่กำลังอกหัก คนที่ซังกะตายท่องเน็ตแบบไร้จุดหมาย รวมไปถึงคนที่ Work From Home อยู่ตอนนี้ น่าจะกำลังนับถอยหลังเพื่อหนีไปเที่ยวอย่างที่ใจฝันแน่ๆ

Source

Source