- หลายประเทศในโลก ได้มีการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา
- มีโรงงานผลิตโดยใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติที่มีระบบการประมวลผลข้อมูลการทำงานไปส่วนกลางมานานหลายปีแล้ว
- แต่จากการสำรวจอุตสาหกรรมของไทย พบว่าโรงงานผลิตส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับ 2.0
- ดังนั้นหากอุตสาหกรรมไทยไม่มีการปรับตัวก็ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
สถานการณ์ของอุตสาหกรรมไทย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอุตสาหกรรม และการแข่งขันกับนานาประเทศนั้น
ที่ผ่านมา มีโรงงานผลิต ที่มีขนาดใหญ่หลายๆแห่งของไทย ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีในการผลิตด้วยเครื่องจักรและหุ่นยนต์บ้างแล้ว
การปรับตัวของธุรกิจในอุตสาหกรรมรถยนต์
ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ ที่มีการปรับตัวเมื่อเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่จะมาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มกำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้นนั้น
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) (FPI) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของบริษัทฯในปี 2560 ได้มีการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯ โดยได้มีการทุ่มงบประมาณกว่า 60 ล้านบาท เพื่อนำหุ่นยนต์พ่นสีมาใช้ในไลน์การผลิตจำนวน 4 เครื่อง และไลน์ฉีดอีกสี่เครื่อง ซึ่งสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 3 เท่าตัว อีกทั้งยังมีการใช้เชื้อเพลิงชีวะมวลในการอบสี ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวลดลง 50% จากเดิม
“ถือเป็นการปรับตัวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันกำไรของบริษัทฯเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี”
” รัฐ ” จับมือบริษัทผลิต “หุ่นยนต์” จากประเทศเกาหลีและเยอรมันช่วยเอกชนยกระดับการผลิต
อย่างไรก็ตามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง ได้นำร่องคัดเลือก 6 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนและผลักดันไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ , เครื่องจักรกลการเกษตร , ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ , อาหารแปรรูป , เครื่องจักรกล , ปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมสนับสนุน
การดำเนินการของแผน ในระยะแรกตั้งแต่ปี 2559 – 2563 จะยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรม 2.0 ไปสู่ 3.0 โดยปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตไปสู่ระบบอัตโนมัติให้ได้มากกว่าร้อยละ 75 ของเครื่องจักรการผลิตทั้งหมด และเครื่องจักรอัตโนมัตินี้จะต้องมีอุปกรณ์เซ็นเซอร์ประมวลผลข้อมูลการทำงานของเครื่องจักรไปยังส่วนกลางได้
นายขัตติยา ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ลงนามความร่วมมือกับกลุ่มบริษัท แอดวานซ์เทค จากไต้หวัน เพื่อผลักดันกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่จะต้องเร่งพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีให้ทันสถานการณ์กับการก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0
ส่วนในด้านความร่วมมือจากประเทศอื่นๆนั้น ส.อ.ท. ได้ประสานงานกับสถาบันไทย – เยอรมัน ในการจัดหาผู้ออกแบบระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ หรือ SI เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาวางระบบให้กับผู้ประกอบการ
โดยความคืบหน้าในเรื่องนี้มิ “ SI ” เข้ามาขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 50 บริษัท และจากนี้ไปมีแผนจะเชิญผู้ประกอบการใน 6 กลุ่มนี้เข้ามาปรับปรุงก่อน คาดว่าจะมีจำนวน 200 – 300 ราย