fbpx
News update

“ซีพีแรม”ลำพูน สายการผลิตแห่งภาคเหนือ แหล่งเพาะปลูกกะเพรา “เมนูอันดับ 1 Chilled Food”

www.onlinenewstime.com : ซีพีแรม ถือว่าเป็น “ครัวขนาดใหญ่” และมีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารแช่เย็น-แช่แข็งพร้อมรับประทาน (Chilled Food- Frozen Food ) และกลุ่มเบเกอรี่  ป้อนให้กับร้านค้าปลีกสมัยใหม่เซเว่น อีเลฟเว่น ติดต่อกันมานานหลายปี

จากที่ผ่านมาโรงงานแห่งแรกๆนั้น ปักหมุดในภาคกลาง ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี  และลาดกระบัง และในจังหวะที่ผู้บริโภคหัวเมืองภูมิภาคต่างๆ ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ มาใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ ซีพีแรมก็เริ่มขยับขยายครัวขนาดใหญ่ ไปรองรับที่จังหวัดชลบุรี, ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี

กระทั่งเมื่อ 10 เดือนที่ผ่านมา เริ่มสยายปีก เปิดสายการผลิตที่จังหวัดลำพูน ซึ่งการเปิดโรงงานแห่งนี้  ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจ เพราะด้วยธรรมชาติ และข้อจำกัดด้าน Shelf life ทำให้ที่ผ่านมา Chilled Food ไม่มีจำหน่ายในร้านภาคเหนือ ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไปมีเฉพาะ Frozen Food ให้บริการกับลูกค้า

ดังนั้นการเปิดโรงงานที่ภาคเหนือครั้งนี้ จึงเป็นการขยายตลาดอาหารแช่เย็นพร้อมรับประทาน (Chilled Food) ที่ส่งให้ถึงตู้แช่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จำนวน 1,004 สาขาในพื้นที่ 13 จังหวัดของภาคเหนือ

นายสาธิต แสงเรืองอ่อน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ รองสายงานยุทธศาสตร์องค์กร บริษัท ซีพีแรม จำกัด บอกกับ “ เวบไซต์ข่าวออนไลน์ นิวส์ไทม์” ขณะเปิดบ้านพาเยี่ยมชมนวัตกรรมการผลิตอาหารพร้อมรับประทาน ที่โรงงานซีพีแรม(ลำพูน) พร้อมเปิดเผยในแง่มุมอื่นว่า

“โรงงานที่นี่เปิดขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดที่เพิ่มขึ้นในภาคเหนือ ขณะเดียวกัน ถือว่าเป็นอีกส่วนที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพการขยายตัว ของระบบเศรษฐกิจและการสร้างงาน สร้างรายได้ในภูมิภาค”

นายสาธิต แสงเรืองอ่อน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ รองสายงานยุทธศาสตร์องค์กร บริษัท ซีพีแรม จำกัด

เมื่อถามถึงผลการตอบหลังเปิดโรงงานซีพีแรม ลำพูน ในมิติของสายการผลิตภาคเหนือนั้น ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดี โดยจากกำลังการผลิตในปัจจุบันอยู่ที่ 45% คาดว่าภายในช่วงระยะกว่า 1 ปีจะใช้กำลังการผลิตทั้ง 100% และคาดว่าในปี 2563 จะมีอัตราการเติบโตที่ประมาณ 15%

เกษตรกรคู่ชีวิตแหล่งเพาะปลูก“กะเพรา”เมนูอันดับ 1 Chilled Food

นอกจากนั้นยังมีข้อดี คือ ได้เข้าใกล้แหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่น ที่ช่วยให้อาหารที่ผลิตออกจากโรงงาน กระจายไปสู่ร้านค้าในเวลาสั้นลงจากเดิมที่ต้องใช้เวลา 6 – 7 ชม. ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 2 – 3 ชม. เท่านั้น

“ยกตัวอย่างของเมนูกะเพราหมู และกะเพราไก่ ที่ถือว่าเป็นเมนู Chilled Food ขายดีอันดับหนึ่ง ของร้านเซเว่น อีเลฟเว่นนั้น เราก็ใกล้แหล่งเพาะปลูกกะเพรา”

ซึ่งโครงการ “เกษตรกรคู่ชีวิต” ในพื้นที่จังหวัดลำพูน เป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยการยกระดับเกษตรกร ผ่านการส่งเสริมการเพาะปลูกกะเพรา

“กะเพราเป็นวัตถุดิบหลักของสินค้า ที่มียอดขายเป็นอันดับ 1  มีความต้องการใช้ตลอดทั้งปีในปริมาณมาก”

ถือเป็นเป็นกิจกรรมหลัก ในการส่งเสริมอาชีพ สร้างงาน  สร้างรายได้ให้กับชุมชน และยกระดับเกษตรกร โดยมีกระบวนการส่งเสริมการเพาะปลูกกะเพรา มีการถ่ายทอด และปฏิบัติตามมาตรฐานการเพาะปลูกที่ดี และเหมาะสม Good Agricultural Practice (GAP) การวางแผนเพาะปลูกร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งสองฝ่าย การจัดการระบบการบันทึกข้อมูลการเพาะปลูก ด้วยระบบ Online เพื่อการตรววจสอบย้อนกลับ (Traceability) การจัดการผล  หลังเก็บเกี่ยว โดยการตัดแต่งใบเพื่อเพิ่มมูลค่า และการจัดการแปลงที่รักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมีและลดของเสียจากแปลงเพาะปลูก

นายสาธิต กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้มีการขยายผลสู่พื้นที่จังหวัดลำพูน ซึ่งมีเกษตรกรต้นแบบจังหวัดลำพูน คือนายภานุวัฒน์ วิชัยรัตน์ เป็นเกษตรกรบ้านหนองปลาขอ หมู่ที่ 5 ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งเดิมได้ทำเกษตรกรรม โดยเพาะปลูก พืช ประเภท ลำไย พริกไทย และข้าว เป็นต้น

นายภานุวัฒน์ วิชัยรัตน์

แต่ในขณะนั้น ประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิต ราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน และขาดตลาดที่รับซื้ออย่างต่อเนื่อง ซีพีแรมได้ลงพื้นที่ และส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูก และตัดแต่ง ส่งใบกะเพรา เข้าไปในกระบวนการผลิตสินค้า มีการรับซื้อในราคาที่คงที่ และมีปริมาณรับซื้อสม่ำเสมอตลอดทั้งปี และยังได้มอบต้นกล้ากะเพรา ที่ใช้ในการเพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 5,200 ต้น

จากการดำเนินโครงการ พบอุปสรรคจากเกษตรกร ที่ยังขาดความรู้ และประสบการณ์ในการเพาะปลูกพืชผัก และยังไม่มีระบบมาตรฐานรับรอง จึงได้มีการลงพื้นที่ เพื่อให้ความรู้ ให้คำแนะนำ และพัฒนาการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการบันทึกข้อมูล Online เพื่อติดตาม และควบคุมการเพาะปลูก ให้เป็นตามมาตรฐานที่กำหนด ไปจนถึงพัฒนาศาลาสวดพระอภิธรรม สู่พื้นที่ตัดแต่งวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน เพิ่มมูลค่าใบกะเพรา ส่งเข้ากระบวนการผลิต การตัดแต่งวัตถุดิบเริ่มต้นที่ 8 กิโลกรัมต่อวัน

จนปัจจุบันที่สามารถรองรับการผลิตได้ถึง 50 กิโลกรัมต่อวัน ทั้งยังส่งเสริมการนำเทคโนโลยี มาใช้ในการเพาะปลูก โดยใช้ Sensor ควบคุมการใช้น้ำอัตโนมัติ ส่งเสริมการรับรองระบบมาตรฐาน การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี และเหมาะสม (GAP) โดยปัจจุบันได้รับรองมาตรฐานการเพาะปลูก จาก กรมวิชาการเกษตร

โครงการนี้สามารถสร้างงาน และอาชีพที่มั่นคง ให้แก่เกษตรกรในชุมชน เป็นจำนวน 22 ราย เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร และจดทะเบียนเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกะเพรายั่งยืน” เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยตรง ทำให้มีอาชีพที่มั่นคง และยั่งยืน

คลิปสัมภาษณ์ : นายสาธิต แสงเรืองอ่อน
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ รองสายงานยุทธศาสตร์องค์กร บริษัท ซีพีแรม จำกัด