fbpx
News update

ที่ประชุมครม. ผ่าน ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล

onlinenewstime.com : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (2 ตุลาคม 2561) อนุมัติและรับทราบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. …

ตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เสนอ โดยเน้น ยกระดับการทำงานภาครัฐ ดำเนินงานให้ก้าวทันยุคเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้บริการพี่น้องประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสืบเนื่องจาก พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกทางราชการ 2558 ที่เน้นอำนวยความสะดวก และลดภาระแก่ประชาชน ที่รับบริการหรือติดต่อหน่วยงานราชการ

ทั้งนี้ กฎหมายฉบับนี้กำหนด ให้มีคณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้อง เสนอคณะรัฐมนตรี และให้หน่วยงานของรัฐ ดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดในแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจัดทำขึ้น ซึ่งหน่วยงานรัฐจ ะต้องจัดทำข้อมูลตามภารกิจหลักให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล โดยข้อมูลต้องเชื่อถือได้ มีความสมบูรณ์ ทันสมัย ประชาชนสามารถสืบค้น และนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ฐานข้อมูล ต้องมีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ยังกำหนดให้มี “ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางแห่งชาติ” เพื่อรองรับ และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูล ระหว่างหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ มีมาตรการ 3 ระยะ 

1. ระยะเร่งด่วน – ต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 5 พ.ย. 2561 นี้ โดยให้หน่วยงานรัฐที่มีกฎหมาย กฎระเบียบ ที่ต้องส่งสำเนาเอกสาร ดำเนินการเชื่อมข้อมูลกัน โดยไม่ต้องทำเอ็มโอยู ให้เจ้าหน้าที่พิมพ์เอกสาร จากระบบเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ลงนามรับรองโดยเจ้าหน้าที่ โดยประชาชน ไม่ต้องนำสำเนาและลงนามสำเนา ส่วนการให้บริการที่เป็นตัวเงิน กับประชาชนแม้กระทั่งค่าปรับ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ กรรมการ อนุกรรมการ ดำเนินการผ่านระบบเนชั่นอีเปย์เมนท์

2. ระยะกลาง – ต้องแล้วเสร็จภายในปี 2562 ให้หน่วยงานที่พัฒนาระบบสารสนเทศ หรือแอพพลิเคชั่นที่บริการประชาชน เชื่อมโยงข้อมูลจากกรมการปกครอง เพื่อดึงข้อมูลกรอกลงในแบบคำร้องอัตโนมัติ

3. ระยะยาว – ต้องแล้วเสร็จภายในปี 2563 ให้สำนักงาน กพร. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) เชื่อมโยงเอกสารมากขึ้น เพื่อให้หน่วยงานเรียกดูเอกสาร และสามารถให้บริการผ่านออนไลน์ได้

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้หน่วยงานนั้นทำแผนเสนอคณะกรรมการ เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป