fbpx
News update

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ“แหล่งน้ำ” สะอาดขนาดใหญ่ใต้มหาสมุทร

onlinenewstime.com : ภายใต้น้ำเค็มอันกว้างใหญ่ของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ นักธรณีวิทยาได้ค้นพบ ชั้นหินอุ้มน้ำจืดขนาดยักษ์ ที่ซ่อนตัวอยู่ไม่ห่างจากชายฝั่งสหรัฐอเมริกา

ถึงแม้การค้นพบนี้ จะสร้างความตื่นเต้นอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายเสียทั้งหมด เพราะมีการค้นพบสัญญาณของ “น้ำ” ที่ปรากฏเป็นครั้งแรกในปี 1970 เพียงแต่ยังไม่มีใครคาดเดาได้ จนเวลาผ่านไป 49 ปี ได้รับการยืนยันในวันนี้ว่า แหล่งน้ำใต้ชั้นหินดังกล่าว มีขนาดตลอดความยาวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ

Chloe Gustafson นักธรณีวิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ให้ความเห็นว่า “เรารู้ว่ามีแหล่งน้ำจืดลึกลงไปข้างใต้ แต่เราไม่รู้ขอบเขตหรือรูปทรงที่ชัดเจน”

ในปี 2015 นักวิจัยในทีมของ Gustafson ได้ทำการศึกษานำร่อง บริเวณนอกชายฝั่งของรัฐนิวเจอร์ซีย์และเกาะแมสซาชูเซตส์ ของ Martha’s Vineyard เพื่อการสำรวจแหล่งน้ำใต้ดินนอกชายฝั่ง ที่ฝังอยู่ในตะกอนใต้ชั้นไหล่ทวีป โดยการใช้เครื่องรับสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้า จากเรือวิจัย Marcus G. Langseth

ชั้นหินอุ้มน้ำขนาดยักษ์ที่พบในพื้นที่สีเหลืองโดยรูปสามเหลี่ยมแทนพื้นที่การสำรวจ
Cr . – www.sciencealert.com

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1970 ที่มีการสำรวจของบริษัทน้ำมัน มีประวัติการพบน้ำจืดโดยบังเอิญเป็นครั้งคราว ระหว่างการขุดเจาะแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ซึ่งการค้นพบเหล่านั้น เป็นข้อมูลเบื้องต้นให้นักวิทยาศาสตร์ รู้ว่ามีแหล่งน้ำใต้พื้นที่บริเวณนี้ แต่ ณ เวลานั้น ยังขาดปัจจัยในการค้นคว้าเพิ่มเติม ทั้งแหล่งข้อมูลเสริม และทรัพยากรต่างๆ

ทีมวิจัยของ Marcus G. Langseth มีความมุ่งมั่นในการค้นหาความจริงให้กระจ่าง โดยได้ทำการสำรวจพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเวลาถึง 10 วัน เพื่อมองหาสัญญาณการนำไฟฟ้า ในผืนน้ำใต้เรือสำรวจ

เนื่องจากน้ำเค็ม เป็นตัวนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (EM) ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าน้ำจืด

ดังนั้นตัวรับ EM จึงถูกนำไปใช้นอกชายฝั่ง เพื่อให้นักวิจัยสามารถทำแผนที่ขอบเขตของชั้นหินอุ้มน้ำดังกล่าวได้

ผลการศึกษา ได้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรก เผยให้เห็นถึงภาพแผนที่อ่างเก็บน้ำขนาดยักษ์ใต้ทะเล โดยแหล่งน้ำใต้ชั้นหินนี้ มีขนาดต่อเนื่อง ครอบคลุมอย่างน้อย 350 กิโลเมตร [217 ไมล์] ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ของสหรัฐอเมริกา มีปริมาณน้ำที่ประมาณ 2,800 ลูกบาศก์กิโลเมตร

เนื่องจากวิธีการทางเทคนิค ของการทำแผนที่ EM ผลลัพธ์ที่ได้มา ยังคงต้องมีการตีความอยู่ในตอนนี้

อย่างไรก็ตามทีมสำรวจได้สรุปว่า แหล่งน้ำมีแนวโน้ม จะยาวไปตลอดทางจาก Delaware (ตอนใต้สุด) ขึ้นผ่านรัฐนิวเจอร์ซีย์, นิวยอร์ก, คอนเนตทิกัต โรดไอแลนด์ และไปจนถึงแมสซาชูเซตส์ และยังมีความหวังว่าอาจจะแผ่ไปไกลมากกว่านั้นอีกด้วย

และคงมีคำถามว่า น้ำไปรวมตัวอยู่ใต้ชั้นหินได้อย่างไร นักวิจัยกล่าวว่า สิ่งนี้น่าจะเกิดขึ้น นับตั้งแต่ยุคน้ำแข็งตอนปลาย เมื่อน้ำแข็งจำนวนมหาศาลละลาย และฝังตัวติดอยู่ในชั้นหินตั้งแต่นั้นมา

มองไปในอนาคต ที่เราอาจต้องนำน้ำจืดเหล่านี้มาเพื่อการบริโภค นั่นหมายถึงต้องมีการแยกเกลือออกมาก่อน เนื่องจากน้ำยังอยู่ในสภาพของน้ำกร่อย มีความเค็มอยู่ในระดับเล็กน้อย โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ใกล้กับน้ำทะเล

แต่สำหรับตอนนี้ แม้ว่ายังไม่มีความต้องการน้ำสำรองฉุกเฉิน แต่จากการค้นพบแหล่งน้ำขนาดยักษ์ครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าระบบน้ำใต้ดินที่คล้ายคลึงกัน สามารถซ่อนอยู่ในส่วนอื่นๆ ที่ร้อนและแห้งแล้งของโลกอีกได้ เช่นแคลิฟอร์เนีย ออสเตรเลีย หรือตะวันออกกลาง ซึ่ง Gustafson ให้ความเห็นว่า “แหล่งน้ำเหล่านี้ อาจจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญมาก กับส่วนอื่น ๆ ของโลกก็เป็นได้”

ผลการวิจัยจากรายงานทางวิทยาศาสตร์ อ่านฉบับเต็ม ที่นี่

Source