Onlinenewstime.com : แดน ปฐมวาณิชย์ กับบทบาทประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF เพื่อมุ่งไปสู่ Food for the Future เทรนด์การบริโภคอาหารแห่งอนาคต ที่ตอบสนองแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่
ในแนวคิดและมุมมองของการนำบริษัทฯ ไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ ทั้งการเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้า OEM ที่มีจุดแข็งตั้งแต่การหาแหล่งวัตถุดิบ คือ ต้นน้ำ และกลางน้ำ ในกระบวนการผลิต กระทั่งปลายน้ำ “สินค้าแบรนด์ของตนเอง” ที่มีความแข็งแกร่ง เป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศนั้น “แดน” ให้สัมภาษณ์เวบไซต์ออนไลน์ นิวส์ไทม์ ถึงแนวคิดและมุมมองในการทำงานว่า ด้วยความถนัดใน 2 ศาสตร์ ทั้งด้านการเงิน ที่จบการศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์การเงิน และความชื่นชอบในด้านอาหารการกินนั้น ถือว่าเป็นจุดลงตัว สำหรับการทำงานและภารกิจของวันนี้
“การทำงานนั้นต้องเข้าใจว่า เราถนัดเรื่องอะไร และสำคัญที่สุดว่า มีจุดแข็งและข้อเสียอยู่ตรงไหน โดยต้องไม่หลอกตัวเอง เพราะส่วนตัวเคยพลาด เนื่องจากไปทำในสิ่งที่ไม่ถนัด เพราะฉะนั้นการเลือกทำ ในเรื่องที่เรามีความถนัดนั้นสำคัญมาก ทำให้เรามี Passion กับสิ่งที่เราทำ ทำแล้วมีความสุข แต่ถ้าไม่มีความสุข ถึงแม้จะประสบความสำเร็จ ก็อาจทำให้รู้สึกท้อได้ และที่สำคัญมาก คือ การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น Open mind เพื่อทำให้เราเดินไปในเส้นทางอย่างถูกต้อง และไม่หยุดการเรียนรู้ ถ้าหยุดเมื่อไรเราจะถึงจุดจบ เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว คนที่หยุดการเรียนรู้ ไม่เปิดรับกับสิ่งใหม่ๆจะมีปัญหา”
การทำธุรกิจแบบยั่งยืน
“ยกตัวอย่าง เรื่องใหม่ที่เข้ามาทำ หลังเข้ามาเทคโอเวอร์ NRF ในปี 2017 พบว่า “ความยั่งยืน” เป็นทั้งปัญหาของโลกและเป็นโอกาสเชิงธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีประชากรทางด้านเกษตรกรรม 14 ล้านคนในประเทศไทย และมีคน 10 กว่าล้านคน ที่มีภาระหนี้สิน คนละประมาณแสนกว่าบาท
ดังนั้นทำอย่างไร ให้ประเทศไทยขับเคลื่อนต่อไป โดยหาทางแก้ปัญหาภาคเกษตรให้ได้ จากเรื่องนี้เอง ทำให้เราเกิด Passion ที่ว่า อุตสาหกรรมอาหารสามารถช่วยคนและช่วยโลกได้”
ในวิธีการ ใช้ระบบจัดซื้อ และทีมงานกลุ่มสินค้าเครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร หรือกลุ่มอาหาร Ethnic Food ทำโครงการเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรขึ้นมา โดยรับซื้อวัตถุดิบในราคาที่สูงกว่าตลาดถึง 20%
ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกร ที่ปลูกพืชสำหรับเป็นวัตถุดิบทำเครื่องแกงต้มยำ อย่าง พริก ตะไคร้ มะนาวให้เราประมาณ 10 ราย แต่ในอนาคตเราวางเป้าหมายเพิ่มเป็นหมื่นราย ซึ่งแน่นอนว่าต้องควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุน เพื่อให้สินค้ามีราคาไม่สูงกว่าแบรนด์อื่น มีความสามารถในการแข่งขันได้
อย่างไรก็ตาม การที่จะทำตามเงื่อนไขของเรานั้นก็ไม่ง่าย เพราะเราอยากผลิตอาหารที่ลูกหลานสามารถรับประทานได้ คือไม่ใช้สารเคมียาฆ่าแมลง แต่การไม่ใช้สารก็จะกระทบกับผลผลิตและ Productivity ที่ด้อยลงมา เราจึงต้องหาจุดสมดุล ที่เราจะช่วยเกษตรกรไปด้วยให้ได้
โดยเฉพาะเป้าหมายระยะยาว ที่ต้องการให้สินค้าของเราปลอดเคมีทั้งหมด ซึ่งใช้เวลาแต่ต้องทำให้ได้ วันนี้โรงงานเรา ผลิตสินค้ากว่า 2000 SKU ซึ่งบางอย่างเป็นวัตถุดิบที่อยู่ในควบคุมของเรา แต่บางอย่างซื้อมาจากที่อื่น เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้เวลาค่อยๆทำอย่างต่อเนื่อง นี่คือนโยบายต้นน้ำของ NRF
แน่นอนว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะยังมีปัญหาหนักอีกเรื่องของเกษตรกรส่วนใหญ่ คือไม่มีเงินทุนสำหรับถมที่ดิน บางรายมีที่ดิน 3 – 4 ไร่ แต่ปลูกพืชเพียง 2 ไร่ ส่วนที่เหลือไม่ได้ถมที่ ไม่มีการวางระบบท่อน้ำ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการของเรานั้น จะต้องมีที่ดิน มีน้ำอุดมสมบูรณ์ประมาณ 2 – 3 ไร่ และอยู่ในระยะไม่เกิน 200 กิโลเมตร เพื่อจะส่งของไปที่โรงงานที่จังหวัดสมุทรสาครได้
การแก้ปัญหาของเกษตรกรนั้น โครงการของเรา มีการให้ความรู้ในการเพิ่มผลผลิตกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งทำให้มีรายได้ประมาณ 3 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาทต่อครัวเรือน โดยในกลุ่มมีตั้งแต่ Smart Farmer ไปจนถึงกลุ่มคนที่มีอายุ นอกจากนี้ยังมีโครงการเกษตรกรออแกนิค ที่ร่วมกับบริษัทพันธมิตรที่มีความชำนาญด้านการบริหารเกษตรกร ในจังหวัดลำพูน อีกประมาณ 300 – 400 ครอบครัว
อีกเป้าหมายที่เป็น Passion ของแดนก็คือ การสร้างโรงงานผลิตวัตถุดิบ สำหรับกลุ่มอาหาร Plant-Based Food (อาหารโปรตีนจากพืช ผลิตจากพืชตระกูลถั่ว เห็ด และสาหร่าย ทดแทนเนื้อสัตว์) หรืออาหารวีแกน เพื่อตอบสนองดีมานด์ที่มีอยู่ทั่วโลก
ซึ่งมองว่าการผลิตอาหารประเภทนี้ยิ่งมาก เราก็ยิ่งช่วยปัญหาโลกร้อนได้มากขึ้น เพราะ 40% ของปัญหาโลกร้อนนั้น เกิดจากภาคอาหาร และทุกครั้งที่เราผลิตนั้น ก็คือการทำอาหารที่สัตว์ไม่โดนฆ่า เหมือนเราได้ทำบุญไปด้วยเช่นกัน
แดน บอกว่า นี่คือแนวคิดว่าทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ โดยทำในสิ่งที่มีความถนัด ในเส้นทางของห่วงโซ่การผลิต วัตถุดิบส่วนต้นน้ำ และกลางน้ำ เรามีจุดยืนในด้านความยั่งยืน มุ่งไปที่ Zero Waste คือ การปล่อยของเสียให้น้อยที่สุด และปัจจุบันเรายังเป็นโรงงานพลังงานสีเขียวที่ใช้ระบบโซลาร์ ในสัดส่วน 80% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งโรงงาน ทำให้ประหยัดต้นทุนด้านค่าไฟฟ้าประมาณ 8 แสนบาทต่อเดือน
ส่วนปลายน้ำ คือการทำสินค้าแบรนด์ของตัวเอง ที่กำลังเปิดเกมรุกตลาดในประเทศ แดน บอกว่า ปัจจุบันมี Distributor หลักอยู่แล้ว และมีความเชื่อมั่น เพราะสินค้าบางรายการที่อยู่ในตลาดต่างประเทศ ถือเป็น Fighting เป็น Product Champion เช่น กลุ่มสินค้ามันกุ้งภายใต้แบรนด์พ่อขวัญ ซึ่งมีรสชาติอร่อย
เมื่อนำมาวางขายในประเทศ เชื่อว่าเราจะเป็นเจ้าตลาด และเหตุผลที่จะนำเข้ามาขายในไทย เกิดจากการศึกษาความต้องการของตลาด ซึ่งพบว่ามีดีมานด์ รวมทั้งได้มีการ Survey ตลาดในช่องทางร้านอาหารที่ใช้มันกุ้งเป็นวัตถุดิบในการปรุง พบว่ามีแบรนด์พ่อขวัญอยู่ด้วย จึงเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า มีโอกาสเป็นสินค้าขายดี รวมถึงสร้างพฤติกรรมการบริโภคและเพิ่มความถี่ให้กลุ่มสินค้ามันกุ้งอยู่ในมื้ออาหาร
“เช่นเดียวกับที่ผมใช้เวลา 3 ปีในการเปลี่ยนบริษัทของเราให้เป็นมหาชน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ยอมรับว่าค่อนข้างเหนื่อยเพราะมีเงื่อนไขในการเข้าตลาดมาก สำหรับการทำตลาดในอีก 3 ปีข้างหน้า ผมมีโฟกัสว่าจะใช้ธุรกิจเดิม โดยนำ data มาใช้ประโยชน์ในการเข้าใจลูกค้า เพราะปลายน้ำมีผลกระทบต่อต้นน้ำและกลางน้ำ”
ขณะเดียวกันเรื่องของอีคอมเมิร์ซก็กำลังมาแรง เพราะฉะนั้นสินค้า จึงต้องตอบโจทย์ตลาด ซึ่งวางเป้าหมายไว้ว่าจะนำสินค้าประมาณ 20 ประเภทมาแข่งขันในตลาดของไทยและ กลุ่ม CLMV ประเทศ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม
มองโอกาสสินค้าที่มีแบรนด์แข็งแกร่งในต่างประเทศ มาทำตลาดในประเทศอย่างไร
จุดแข็งในต่างประเทศคือ แบรนด์ อย่างพ่อขวัญ ลี แบรนด์ ที่เป็นที่นิยมในซูปเปอร์มาร์เก็ตของคนจีน หรือเวียดนาม พูดได้ว่ามีสินค้าของบริษัทเราประมาณ 100 อย่างเรียงเต็มเชลฟ์ แต่จุดแข็งนี้กลายเป็นจุดด้อยเมื่อมาขายในเมืองไทย เพราะว่ายังไม่มีใครรู้จักพ่อขวัญ จึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ที่เราต้องสร้าง Awareness ให้คนรู้จักสินค้าเรา โดยหลักแล้วต้องสร้าง Awareness ก่อน จากนั้นจึงทำให้เกิดการทดลองตามมา ซึ่งถ้าทำให้คนชอบในรสชาติ เชื่อว่าต้องมีการซื้อซ้ำในครั้งที่ 2
เนื่องจาก product ของเรามีจำนวนมาก จากสินค้าทั้งหมด 2 พัน SKU วางแผนจะนำเข้ามาวางขาย 20 SKU โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กลุ่มปรุงอาหาร ที่ใช้กลยุทธ์เพิ่มความถี่ และโอกาสในการใช้
ขยายจากเครื่องปรุงรสมาเป็นส่วนหนึ่งบนโต๊ะอาหาร ที่ช่วยเพิ่มรสชาติอาหาร คลุกกับข้าว ใส่ในก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นกลยุทธ์การทำตลาดแบบเดิม แต่เพิ่มการใช้ที่หลากหลาย ไม่ได้เป็นแค่เฉพาะเครื่องปรุงในครัว แต่เป็นการสร้างพฤติกรรมการกินใหม่ ให้มีความหลากหลายให้มากขึ้น
ถามถึงความแข็งแกร่งของสินค้าในบริษัทเรา คือ 1. มีสูตรที่หลากหลาย และรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคว่าแต่ละสูตรเหมาะกับประเทศอะไร เช่น ต้มยำเรามีถึง 20 กว่าสูตร ซึ่งบางสูตรก็เป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องต้มยำที่ประเทศมาเลเซีย หรือสหรัฐอเมริกา 2. มีความชำนาญในการคิดค้นสูตรใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงความต้องการ
เช่นเดียวกับ แบรนด์พ่อขวัญเมื่อมาทำตลาดในเมืองไทย มีการปรับเปลี่ยนแพ็กเก็จจิ้งและฉลาก จากเดิมที่ทำมา 20 ปีให้เป็นโฉมใหม่เหมาะสมกับบ้านเรา ซึ่งวันนี้มีวางจำหน่ายในหลายช่องทางทั้ง Modern Trade, Traditional Trade และ Online
การแข่งขันตลาดเครื่องปรุงรส
แดน ฉายภาพให้เห็นถึงการแข่งขันทางการตลาดของเครื่องปรุงรส ว่า เป็นเรื่องแบรนด์ล้วนๆ ตามมาเป็นลำดับด้วยรสชาติ และราคาตาม อย่างน้ำจิ้มศรีราชานั้น เรียกว่าเป็นเบอร์หนึ่งเรื่องของน้ำจิ้ม แต่ต้องคำนึงถึงช่องทางด้วยเช่นกัน หากไปในช่องทางร้านรถเข็น อาจจะเป็นอีกแบรนด์ที่เป็นเจ้าตลาด พูดได้ว่าตลาดของพื้นที่ใครพื้นที่มัน นอกจากจุดเด่นเรื่องของการทำแบรนด์แล้ว รสชาติก็ต้องอร่อยด้วย
สำหรับแบรนด์พ่อขวัญของบริษัทเรานั้น วางกลยุทธ์ราคาในตลาดระดับกลาง ที่คุ้มค่า และช่องทางการขาย อยู่ในระหว่างการขยายออกไปเรื่อยๆ หากจะมองเรื่องของการแข่งขัน พ่อขวัญยังมีจุดด้อยที่แบรนด์ แต่มีจุดแข็งที่รสชาติ และราคาที่สู้ได้ อันที่จริงต้นทุนการผลิตในแต่ละโรงงานจะไม่ต่างกันมากนัก ขึ้นอยู่กับว่าพอใจกำไรที่เท่าไร
ส่วนในเรื่องแบรนด์ ที่มีความสำคัญนั้น ในตลาดเมืองไทยพ่อขวัญ มีจุดแข็งที่เราสามารถต่อยอดสร้างการรับรู้จากคนในต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นข้อดี และเรามีสายป่านยาว คือมีงบในการสร้างแบรนด์และทำตลาด ถือเป็นความได้เปรียบ และดีกว่าการนับหนึ่ง เริ่มสร้างแบรนด์ใหม่ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาเป็น 10 ปี
เป้าหมายและโอกาสเกิดของแบรนด์ใหม่
ปีนี้เป็นปีแรกที่ปรับเปลี่ยนเป้าหมายเข้ามาทำตลาดในไทย และเรื่องการรับรู้แบรนด์ เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างมาก แม้กระทั่งแบรนด์ลอยัลตี้ก็เปลี่ยนไป
“เรื่องนี้สร้างปัญหาให้กับหลายๆแบรนด์ แต่เป็นโอกาสของแบรนด์ใหม่ หรือแบรนด์ที่เห็นโอกาส จากการกินข้าวที่บ้านทุกวัน จากเดิมที่กินข้าวนอกบ้านประมาณ 4 วันใน 1 สัปดาห์ และวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่กล้ากินข้าวนอกบ้าน รวมถึงในช่วงแรกๆ ที่ร้านอาหารไม่เปิด เมื่อกินข้าวที่บ้านทุกวันจะเริ่มเบื่อ มีความจำเจ
ซึ่งเป็นจุดที่เรามองว่า ทำอย่างไรให้ลูกค้าซื้อสินค้าของเรา และความเบื่อทำให้เกิดการค้นหา ค้นพบสิ่งใหม่ๆ เป็นเรื่องของพฤติกรรมการเบื่อของเก่า และเริ่มค้นหาทดลองชิมสินค้าใหม่แบรนด์ใหม่ๆ จึงเป็นโอกาสของแบรนด์ที่อยากจะเกิด พ่อขวัญจึงเข้ามาถูกจังหวะและมีความพร้อมอีกด้วย”
เทรนด์ของตลาดเครื่องปรุงรส
ในภาพรวมพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล หรือเจน Z ซึ่งเป็นกำลังซื้อที่สำคัญของทั่วโลกนั้น ต้องการรสชาติที่แตกต่างจากเจนวาย และเจนเอ็กซ์ ที่บริโภค Junk Food เป็นประจำ และหลายคนมองเรื่องของสุขภาพ การกินอาหารที่ดีต่อโลกและดีต่อสุขภาพ สอดคล้องกับกลุ่มอาหาร Plant-Based Food
สำหรับคีย์ซัคเซสเพื่อนำไปสู่การคิดค้นสินค้า ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวนั้น แดน บอกว่า สตาร์ทอัพ จะเป็นส่วนหนึ่งในการคิดสูตรอาหาร ที่มีการนำเทคโนโลยี มาใช้สนับสนุนโจทย์ คือ Productivity เพื่อดิสรัป Food ให้มีความแตกต่างจากที่ผ่านมา
วิเคราะห์ธุรกิจของ NRF
เช่นเดียวกับ Rising Star ของบริษัทเราที่เป็นอาหารกลุ่ม Plant-Based Food ซึ่งมี Demand มหาศาล และสินค้าของเราแตกต่างจากสินค้าทั่วไป ยกตัวอย่างแบรนด์ที่เรียกว่าเป็นเลิศเรื่องน้ำปลา แต่สำหรับสินค้าเรา ไม่ได้เป็น One Product เพราะบนเชลฟ์มีอยู่ถึง 100 Products และนำมาปรุงอาหารได้ทุกอย่าง ดังนั้นสิ่งที่เป็น Star ของเราคือ แบรนด์ที่เด่นในต่างประเทศ ลูกค้าอยากทำเมนูต้มยำ ก็มาซื้อพ่อขวัญ หรือข้าวผัดก็มาซื้อพ่อขวัญ
วิถีชีวิตของการ Cooking at Home ถือเป็นโอกาส เพราะอยากทำอะไรสินค้าของเรามีครอบคลุมทั้งหมด อีกกลุ่มสินค้าที่เป็น Star แต่ฉีกออกไปจากกลุ่มอาหาร คือ HAND GEL SANITIZER หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ที่เราจับมือกับบริษัทผลิตแฮนด์เจลของประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งได้รับการตอบรับและมียอดขายที่ดีมาก
เป้าหมายของ NRF
บริษัทเราถนัดต้นน้ำและกลางน้ำ ดังนั้นปลายทางของ NRF คงไม่แตกต่างจากที่ผ่านมา เรายังคงเป็น OEM ประมาณ 70% และผลิตสินค้าในแบรนด์ของเราเอง 30% ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ แต่สิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือ การมีโรงงานทั่วโลก เรามองตลาดของเราคือ โลก ไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่เพียงอย่างเดียว การมีโรงงานหลายที่ มีทีม R&D ที่แข็งแกร่งทำให้เราคิดค้นรสชาติที่ต่างกัน ตามความต้องการของแต่ละประเทศ ซึ่งความสามารถในการแข่งขันของเรานั้น มีทั้งในด้านต้นทุน คุณภาพ และการตอบสนองนโยบายความยั่งยืนของเรา
มุมมองสังคมในอุดมคติ
ธุรกิจจะขับเคลื่อนไปในวันข้างหน้า คู่ขนานสภาพแวดล้อมสังคมที่ดีได้อย่างไรบ้างนั้น แดน บอกว่า ยุคโซเชียลมีเดียเป็นตัวแปรสำคัญ และเป็นปัญหาของโลกที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันในหลายเรื่อง ถ้าควบคุมไม่ได้จะมีความน่ากลัวมากยิ่งขึ้น ตัวอย่าง การโพสต์แสดงความคิดเห็นในเฟสบุ้ค ที่คนเห็นต่างออกมาโจมตีกัน เปลี่ยน Private comment มาเป็น Public debate อันที่จริงเราต้องสามารถแสดงความคิดได้และนับถือกัน
แต่สิ่งที่เห็นกลายเป็นว่า ขณะที่มีการเพิ่ม Follower อินสตราแกรม อินฟลูเอนเซอร์ ทั้งหลายนั้น บางส่วนเกิดขึ้นได้ต้องมีการดิสเครดิต หรือให้เครดิตอะไรสักอย่างที่อยู่ในเทรนด์ กลายเป็นว่าจะอยู่เฉยไม่ได้ เพราะไม่มีใครตาม ต้องหาอะไรใหม่ๆ ที่ทำให้ช็อคหรือสวยงาม เป็นเรื่องที่เอ็กซ์ตรีมมากขึ้น
สำหรับคำถามที่คิดว่าโลกควรจะเป็นไปแบบไหน คิดว่าถ้าเราดูย้อนกลับพวกนักเขียนที่พูดถึงเรื่องยูโธเปีย คือ มีอยู่เท่านี้โลกที่สวยงาม หรือโลกที่น่าเกลียด ซึ่งผมคิดว่า ศาสนาพุทธและในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านมีความเป็นปราชญ์อย่างมาก ทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การอยู่สายกลาง และการรู้ตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และยิ่งในยุคเทคโนโลยีที่สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นไปอีก ลองคิดดูว่าอีก 30 ปีข้างหน้าจะแรงขนาดไหน เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก สำหรับสังคมที่ดีจริงๆ ต้องมีเดินสายกลาง ตราบใดที่เราสามารถเดินสายกลางได้ เราจะมีความสุขมากขึ้น