www.onlinenewstime.com : เทคโนโลยีที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องส่งผลให้วิถีชีวิต องค์กรธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม แม้กระทั่งภาครัฐถูกดิสรัปต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงและนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะสม
วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี หรือ CIBA มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้ความสำคัญกับการติดอาวุธให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งยุค เพื่อปูทางสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่มีความรู้ด้านธุรกิจสมัยใหม่ ปรัชญา วิสัยทัศน์ นวัตกรรม ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิสรัปชั่นได้ และภายใต้การจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ “International Conference in Business Innovation 2019 (ICBI) โดย CIBA ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “Digital currency and blockchain for business innovation เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสของธุรกิจ”
ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายภาคีสัมพันธ์ และผู้บริหาร วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงงานประชุมวิชาการว่า ICBI เป็นเกตเวย์สำหรับการแชร์ข้อมูลความรู้ อาทิ การเผยแพร่ผลงานวิจัยรวมทั้งสิ้น 64 เรื่อง การจัดเสวนาเรื่องบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล โดยเป็นงานอีเวนต์ระดับนานาชาติที่จัดขึ้น 3 วัน และมีทั้งนักศึกษาชาวไทย ผู้สนใจจากอินโดนีเซีย จีน สปป.ลาว มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
สำหรับงานวิจัยของวิทยาลัยเป็นการศึกษาทักษะแรงงานในอนาคตว่า ช่วงปี ค.ศ. 2020 – 2060 อนาคตของแรงงานจะเป็นอย่างไร โดยทำวิจัยลงไปในแต่ละอุตสาหกรรมว่า ชุดทักษะ (Skill Set) ใดบ้างที่จำเป็นสำหรับอนาคต เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ
AI ใน 3 ยุค
เราพบว่า ความรู้ด้านสถิติ การเขียนโค้ด การทำงานร่วมกับ AI (Artificial Intelligence) การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) เป็นทักษะที่ต้องการอย่างยิ่งในอนาคต
ซึ่งในด้าน AI เราแบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ ค.ศ. 2020-2029 เป็นยุควิวัฒนาการด้าน AI ช่วง ค.ศ. 2030 – 2049 เป็นยุคแห่งการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันและใช้ประโยชน์จาก AI และ ค.ศ. 2050 – 2060 เป็นยุคที่ AI จะเข้ามาทำงานแทนแรงงานมนุษย์ โดยเราสามารถสั่งให้ AI ทำอะไรก็ได้ แต่การที่เราเป็นมนุษย์ ต้องถามตัวเองด้วยว่า เราจะทำอะไร ทำไม เพื่ออะไร อย่างไร และมีจุดมุ่งหมายในชีวิตอย่างไร
สถาพน พัฒนะคูหา ผู้ก่อตั้ง SmartContract Thailand บริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน มีโซลูชันด้านบล็อกเชนให้บริการแก่ภาครัฐและองค์กรขนาดใหญ่ เป็นที่ปรึกษาด้านบล็อกเชน มี Blockchain Lab สำหรับค้นคว้าวิจัยด้านบล็อกเชน ทั้งยังมีการพัฒนา HealthTech โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนอีกด้วย
จุดเด่นของบล็อกเชนคือความน่าเชื่อถือคือ
สำหรับคนที่ไม่เคยรู้เรื่องบล็อกเชน สถาพน กล่าวว่า บล็อกเชน คือ วิธีเก็บข้อมูลอย่างหนึ่ง โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้างความน่าเชื่อถือ ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ และมีความโปร่งใสสูงมาก จึงสามารถสร้างสิ่งที่น่าสนใจบนเทคโนโลยีนั้นเพื่อใช้งานได้ เช่น สกุลเงินดิจิทัล Bitcoin, Libra ต่างจากเงินที่เป็นเงินกระดาษ เช่น เงินบาท ต้องมีธนาคารแห่งประเทศไทยและการดำเนินงานหลายด้านเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้โลกการเงิน
“บล็อกเชนทำให้เงินดิจิทัลน่าเชื่อถือโดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง จึงไม่มีต้นทุนเพิ่ม ซึ่งแต่ละธนาคารสามารถทำเองได้ โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นตัวกลางที่มีประสิทธิภาพมาก ดังนั้นถ้าระบบการเงินของคุณไม่มีประสิทธิภาพก็จะโดนบล็อกเชนดิสรัปต์
ซึ่งจะเห็นได้จากการที่เฟซบุ๊กกับอีกหลายบริษัทร่วมกันออกเงินดิจิทัล ‘Libra’ ซึ่งทำให้ระบบการเงินดิจิทัลนี้ใหญ่พอที่ใช้จ่ายได้ทั่วโลก โดยไม่ต้องแตะเงินบาทเลย แล้วเราจะใช้ประโยชน์จากรถไฟขบวนนี้อย่างไร”
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง Coins.co.th, ปัจจุบันเป็นซีอีโอ Bitkub และผู้อำนวยการสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย เล่าถึงธุรกิจแรกว่า เปิดบริษัท Coin ขึ้นในปี ค.ศ. 2013 เพื่อทำให้คนซื้อขายหุ้นได้โดยไม่มีตัวกลาง ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการเปิดตัวของ TrueMoney แต่ด้วย Coin ทำงานบนบล็อกเชน ซึ่งถึงว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยในขณะนั้น บริษัทจึงถูกตรวจสอบหลายครั้งจากหลายหน่วยงาน เนื่องจากเข้าใจว่า อาจเป็นธุรกิจรับฟอกเงินหรือทำสิ่งผิดกฎหมาย แล้วในที่สุด Coin ก็ได้รับความสนใจจาก Go-Jek แพลตฟอร์มชื่อดังของอินโดนีเซียและเข้าซื้อกิจการไป
เทคโนโลยีบล็อกเชนกับเงินสกุลเงินดิจิทัล
จิรายุสเล่าย้อนไปในปี ค.ศ. 2009 ว่า การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนครั้งแรก คือ การสร้าง Bitcoin สกุลเงินดิจิทัล ซึ่งความแตกต่างของมูลค่าเงินกับข้อมูลคือ เงินเฟ้อได้ แต่ถ้าเป็นข้อมูล สามารถเก็บไปได้เรื่อยๆ และในอนาคต เราจะสามารถซื้อขายทุกอย่างในรูปแบบเดียวกับหุ้นได้
จิรายุสอธิบายอีกว่า บล็อกเชนมี 3 ชนิด ได้แก่ 1) Open Blockchain เช่น Bitcoin ทุกคนเข้าถึงได้ 2) Private Blockchain บางส่วนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ และ 3) Consortium Blockchain เช่น Libra ซึ่ง Libra มี 5 สกุลเงินที่รองรับอยู่ และจะเปิดตัวในปี 2020 และจากประวัติศาสตร์การเงินพบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของเงินทุกๆ 50 ปี ดังนั้น ปี ค.ศ. 2021 เชื่อว่าต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ระบบการเงินใหม่จะมาแก้วิกฤตระบบการเงินเก่าอย่างแน่นอน
“เฟซบุ๊กมีมูลค่าตลาดมากกว่าบริษัทในเมืองไทยรวมกัน บอกได้เลยว่า Social Banking แซงหน้า Mobile Banking แน่นอน Social Banking คือ LINE Payment, Facebook Payment ซึ่งถ้า Libra เข้ามาในโลกโซเชียล เช่น LINE จะทำให้ LINE มีเงินมากกว่าธนาคารในไทยอย่างแน่นอน
ดังนั้น เรื่อง Libra ถ้าเราไม่ทำ คนอื่นทำแน่ ดูอย่างบริษัทบนอินเทอร์เน็ตที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก เช่น Google Facebook Amazon ที่เขาไปวิ่งบนถนนสายใหม่ เป็น Digital Layer ซึ่งสุดท้ายคนจะวิ่งเยอะกว่า Physical Layer และถ้าเป็นผม ผมจะสร้างแอปพลิเคชันบน Libra”
ไผท ผดุงถิ่น ผู้ก่อตั้ง Builk.com แพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าและบริการเกี่ยวกับวงการก่อสร้าง และออกซอฟต์แวร์ควบคุมต้นทุนก่อสร้างให้ผู้รับเหมาก่อสร้างได้ใช้งานฟรี เมื่อมีฐานข้อมูลมากจนเป็น Big Data ก็สามารถระดมทุนได้ช่วยให้ธุรกิจโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาพลักษณ์ของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไม่สู้ดีนักด้วยหลายสาเหตุ จึงศึกษาเรื่องบล็อกเชน เพราะต้องการเทคโนโลยีมาซัพพอร์ตธุรกิจและสร้างความน่าเชื่อถือซึ่งสร้างน่าเชื่อถือได้มากขึ้นเพราะเป็นระบบที่ตรวจสอบได้
บล็อกเชนเทคโนโลยีซัพพอร์ตธุรกิจ
“ยุคที่ Bitcoin บูม ICO บูม เราก็ออก BuilkCoin เล็กๆ บนระบบบล็อกเชน และรอเวลาที่จะ settle เทคโนโลยี ซึ่งก็นำมาในด้านสัญญา เพราะสัญญาในวงการก่อสร้างไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ตัวอย่างในช่วงก่อนวิกฤตมีคำที่เรียกว่า แลกเช็ค ผู้รับเหมานำ Invoice ไปขึ้นเงินเพื่อนำมาหมุนก่อน บางคนไปขึ้นกับหลายแบงก์ แบงก์จึงแบล็กลิสต์วงการก่อสร้าง แต่เมื่อเรามี Supply Chain ขึ้นมา จึงเริ่มวางบิลบนระบบบล็อกเชน และขณะนี้อยู่ในช่วง Development Stage”
ผมฝากข้อคิดนิดนึงว่า ประเทศอยู่ได้เพราะมีเงินภาษี มีถนน มีโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น ประเทศต้องมีเงินแล้วนำเงินมาพัฒนาประเทศ
แต่สมมติว่า คนรุ่นใหม่หรือน้องๆ รับเงินเดือนเป็น Libra ในขณะที่ประเทศเรากำลังพัฒนา กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ แล้วเทคโนโลยีมาเจอเราในวันที่เรายังไม่รวย ประเทศนี้จะอยู่อย่างไรถ้าเก็บภาษีไม่ได้”
วิจักขณ์ เศรษฐบุตร รองผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความเข้าใจและคลุกคลีอยู่ในตลาดสกุลเงินทั่วไป หรือ เงินเฟียต (Fiat Currency) เช่น เงินบาท เป็นเงินที่ออกตามกฎหมาย มีโรงพิมพ์พิมพ์ธนบัตรออกมา และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ดูแลเรื่องเงินตราในประเทศ
เงินสกุลดิจิทัลกับเงินเฟียต
เมื่อมีเทคโนโลนีบล็อกเชน มีสกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency) เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่ Bitcoin ที่มีราคาขายในตลาดขึ้นๆ ลงๆ จนหวือหวา
หากพิจารณาดูจะเห็นว่า Bitcoin มีลักษณะเป็นสินทรัพย์ (Asset) มากกว่าเงิน และมีมูลค่าที่ผันผวน จึงมี กฎหมายด้านสินทรัพย์ดิจิทัล เกิดขึ้น รับผิดชอบดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ซึ่งตอนนี้สกุลเงินดิจิทัลก็มีพัฒนาการมากขึ้น คือ มีมูลค่าคงที่ (Stable Coin) ทำให้มีการซื้อขายมากขึ้น และอีกประการหนึ่งคือ Central Bank ของประเทศต่างๆ ที่มีหน้าที่ออกเงินกระดาษหรือเงินเฟียต สามารถศึกษาและออกเงินดิจิทัลได้เอง เช่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังทำสกุลเงินดิจิทัลภายใต้ชื่อ โครงการอินทนนท์ (Inthanon Project)
“ที่ตั้งชื่อนี้เพราะการสร้างสกุลเงินดิจิทัลโดยภาครัฐ ส่วนใหญ่ตั้งชื่อตามอุทยานแห่งชาติ เช่น สิงคโปร์ เราจึงใช้ชื่อยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย และตอนนี้อยู่ในช่วงทำระบบเคลียร์เงินดิจิทัล ต่อด้วยเฟสสอง การทำสมาร์ทคอนแทร็ก (SmartContract) และเฟสสาม การโอนเงินระหว่างประเทศ
โดยสิ่งที่เราศึกษาคือ ถ้าใช้เงินดิจิทัลแทนเงินบาท การเคลียร์เงินดิจิทัลแบบเรียลไทม์ จะมีความปลอดภัยและประสิทธิภาพเป็นอย่างไร เพราะเมื่อถึงเวลาใช้เงินดิจิทัล ประชาชนจะได้เชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย”
ปัจจุบัน การทำธุรกรรมในไทยใช้การโอนเงินผ่านระบบ BahtNet ซึ่งทุกแบงก์เป็นสมาชิกอยู่ การเคลียร์เงิน โอนเงินระหว่างธนาคารจึงต้องรอข้ามวัน จึงทำให้เกิดความล่าช้า แต่หากพัฒนาโครงการอินทนนท์ได้สำเร็จ ระบบการเงินก็จะทำงานได้รวดเร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานยังต้องระวังบางประเด็นอยู่
“ระบบเศรษฐกิจใหม่เพิ่มความสะดวกสบายให้เราแต่ก็มีความเสี่ยง ซึ่งผู้ใช้งานต้องระวังทั้งเรื่องความเป็นส่วนตัว ระบบการบริหาร ความปลอดภัย และจะต้องมีระบบรองรับในกรณีที่เกิดวิกฤต โดยแบงก์ชาติก็พยายามศึกษาเงินดิจิทัลเพื่อดูเสถียรภาพทางการเงินอยู่ ว่าผู้ที่ออกเงินดิจิทัลไปแล้วจะจัดการการเงินให้ปลอดภัยได้อย่างไร เนื่องจากเป็น Private Money”
หลังเสร็จสิ้นงานเสวนา ดร.พัทธนันท์ กล่าวสรุปความสำคัญของบล็อกเชน การนำไปปรับใช้ และ ซึ่งจะมีผลต่อ Business Innovation จากคำแนะนำของวิทยากร ว่า Builk แพลตฟอร์มอุตสาหกรรมก่อสร้าง นำบล็อกเชนมาใช้ในเรื่อง Smart Contract ทำให้เอกสารต่างๆ มีความชัดเจน เชื่อถือได้มากขึ้น ส่วน SmartContract บริษัทที่ให้บริการบล็อกเชนโซลูชัน และนำบล็อกเชนไปใช้ในด้าน Medical Service ทำให้เห็นว่า อุตสาหกรรมใดก็สามารถนำบล็อกเชนไปใช้ประโยชน์ได้
ขณะที่ Coin และ Bitkub แนะนำโอกาสและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากคนไทยไม่ปรับตัว
และสุดท้ายโครงการอินทนนท์ การสร้างสกุลเงินดิจิทัลบนบล็อกเชน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนา พร้อมๆ กับติดตาม ความคืบหน้า ประโยชน์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
“การเงินอาจจะเปลี่ยนอีกรอบจากเทคโนโลยีบล็อกเชนและเงินดิจิทัล ซึ่งส่งผลต่ออุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการเงิน ที่จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เนื่องจากเงินดิจิทัลอาจเป็นเงินในอนาคต ก็ต้องดูว่าจะมี Player มากขนาดไหนที่จะยอมรับสกุลเงินนี้ เราจึงเชิญวิทยากรมาเปิดมุมมองใหม่ ซึ่งแต่ละคนก็พูดให้เห็นหลายเรื่อง
และสุดท้ายแล้ว ถ้าบล็อกเชนดีจริง เงินดิจทัลดีจริง มันก็จะไปต่อได้ และหลังจากนี้ก็จะมีการจัดงานที่เจาะลึกลงไปอีก เพราะอย่างที่วิทยากรบอกไว้ว่า บนถนนของ Libra ถ้าเราไปสร้างแอปพลิเคชันบน Libra คนสร้างก่อนก็จะเป็นผู้นำ เหมือนเฟซบุ๊กที่รู้ความต้องการว่า คนอยากจะ Connect ได้อย่างคล่องตัวก็เลยไปหาสิ่งนั้น เช่นเดียวกับการทำธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องมองเห็นอนาคต”