Onlinenewstime.com : น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)พร้อมด้วย ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ, นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(เลขาธิการ กพฐ.), ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภาและ รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (รองปลัด อว.)ได้ร่วมแถลงข่าว “การผลิตบัณฑิตและพัฒนาครูฐานสมรรถนะเพื่อพัฒนากำลังคนสำหรับศตวรรษที่ 21” (PTRU Model : Professional Teacher of Rajabhat University)
น.ส.ตรีนุช กล่าวตอนหนึ่งว่า การพัฒนาครูถือเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้พูดถึงกลไกระบบพัฒนาวิชาชีพครูด้วย
ดังนั้น ครู จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่วันนี้ เราต้องยอมรับว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จะทำอย่างไรให้การศึกษา สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้ ครูถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา เกือบ 2 ปี ที่ตนเข้ามาทำงานใน ศธ.ได้เห็นความท้าทายหลาย ๆเรื่อง
เช่น ที่ผ่านมา เรามักจะพูดว่าต้องเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน ให้สอดรับกับศตวรรษที่ 21 แต่การจะเปลี่ยนโดยฉับพลันนั้นอาจจะทำไม่ได้ จึงต้องกลับมามองที่หน่วยผลิตครู
ซึ่ง มรภ. ถือเป็นหน่วยใหญ่ในการผลิตครู ซึ่งตนดีใจที่ มรภ.ทั้ง 38 แห่ง ได้จัดทำโมลเดลผลิตบัณฑิตครู (PTRU Model) โดยกำหนดสมรรถนะบัณฑิตราชภัฎ ไว้ 17 สมรรถนะ ซึ่งโมเดลนี้ ถือเป็นแกนกลางที่ให้ มรภ. สามารถนำไปใช้ ซึ่งแต่ละแห่งก็สามารถนำโมเดลนี้ไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของตนได้อีกด้วย
“ซึ่งนอกจากสมรรถนะครูทั้ง 17 สมรรถนะแล้ว ปัจจุบันทักษะด้านภาษาก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งดิฉันพบข้อมูลว่า ในการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู วิชาที่มีผู้ผ่านน้อยที่สุด คือ วิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งในมุมมองของดิฉัน มองว่าครูควรจะมีความรู้ศัพท์เฉพาะในวิชาที่ตนสอน และสามารถใช้ภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานได้
เพราะวันนี้เราต้องยอมรับว่าเรื่องภาษาเราทิ้งไม่ได้ ครูจะต้องอัพเดทองค์ความรู้ของตนอยู่ตลอดเวลา การมีความรู้ด้านภาษา ก็จะช่วยให้ครูได้เข้าถึงความรู้เพิ่มมากขึ้น และสามารถนำความรู้ มาสอนนักเรียนต่อไปได้
รวมทั้งความรู้ด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาในเรื่องของจิตวิทยาเด็ก จากการลงพื้นที่ พบสิ่งสำคัญคือ ครูจะต้องทราบว่าจะพัฒนาการสอน และใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับเด็กแต่ละช่วงวัยได้อย่างไร ต่อไป ศธ.จะเร่งให้คุรุสภาทำการรับรองโมลเดลผลิตบัณฑิตครู เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติต่อไป” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ลินดา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการยกระดับคุณภาพการผลิตครู และการพัฒนาครูของ มรภ.เริ่มตั้งแต่ปี 2561 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และได้ยกร่างโมเดลการผลิตและพัฒนาบัณฑิตครู มรภ.ในปี 2563 และได้นำโมเดลไปใช้โดยทำการทดลองควบคู่ไปกับการวิจัย และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับการตรวจเยี่ยมจาก พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี มาอย่างต่อเนื่อง และจากที่องคมนตรี ได้ตรวจติดตามผลการดําเนินงานตามยุทธศาสตร์ มรภ.ประจําปี 2565 พบว่า มรภ.แต่ละแห่งได้รายงานถึงการสร้างรูปแบบร่วมในการผลิตบัณฑิตครูให้มีสมรรถนะและอัตลักษณ์เฉพาะ มหาวิทยาลัย กล่าวคือ ทดลองใช้หลักสูตรแกนกลางในการผลิตบัณฑิตครู ที่ถูกเติมเต็มความเชี่ยวชาญเฉพาะทางตามบริบทของแต่ละ มรภ.เพิ่มขึ้นเข้าไปอีก
สำหรับโมลเดลผลิตบัณฑิตครู มีสมรรถนะบัณฑิตราชภัฏ 17 สมรรถนะ ดังนี้
1. ปฏิบัติงานครูอย่างมืออาชีพ 2. ภาวะผู้นำและสัมพันธ์ชุมชน 3. บริหารจัดการชั้นเรียน 4. ทำงานเป็นทีม 5. ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 6. สื่อสารอย่างมีกลยุทธ์ 7. บุคลิกภาพความเป็นครูและทัศนคติในการปรับตัว 8. จิตอาสา จิตสาธารณะ 9. ศิลปะการใช้สื่อ 10. อำนวยการเรียนรู้ 11. วัดและประเมิน 12. ประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 13. ออกแบบและพัฒนาหลักสูตร 14. เป็นพลเมืองดี 15. บูรณาการศาสตร์สู่การสอน 16. นวัตกรรมทางการศึกษา และ 17. จิตวิญญาณความเป็นครู
ผศ.ดร.อมลวรรณ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ได้พยายามออกแบบหลักสูตรผลิตครู เพื่อที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา และสร้างครูที่จะไปทำให้เด็กและเยาวชนของชาติมีคุณภาพ ซึ่งโมลเดลดังกล่าวที่กลุ่มราชภัฏผลิตออกมานั้น ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาในเรื่องการผลิตครูและเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ว่าด้วยการผลิตครูนำคุณภาพสู่สังคม
ทั้งนี้ คุรุสภาเป็นสภาวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐาน และเราอยากเห็นการผลิตครูเชิงระบบและนำมาตรฐานวิชาชีพมาใช้อย่างมีคุณภาพและจริงจัง ซึ่งถ้าเราดูโมเดลหลักสูตรที่กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏจัดทำขึ้นจะพบว่า มีกระบวนการใช้และการวิจัยรองรับในการทำงานชิ้นนี้ เพื่อที่จะได้หลักสูตรสมรรถนะทั้ง 17 สมรรถนะออกมา และมีการนำไปทดลองใช้กับสถาบันผลิตครูบางแห่งแล้ว
ดังนั้น คุรุสภาเห็นว่าโมเดลดังกล่าว คือรูปแบบหนึ่งของการผลิตครูในประเทศไทยที่สามารถตอบโจทย์มาตรฐานวิชาชีพได้เป็นอย่างดี
ด้าน นายอัมพร เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในฐานะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยงานผู้ใช้ครู ซึ่งเป็นโอกาสดีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏคิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้น เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของประเทศในหลายมิติ
สำหรับรูปแบบที่กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏกำหนดเพื่อพัฒนาครูนั้น จะเกิดความร่วมมือกันกับทุกฝ่ายตั้งแต่ฝ่ายผลิตฝ่ายผู้ใช้ครู และฝ่ายผู้ควบคุมให้ลงมือต่อยอดกันอย่างจริงจัง เพราะขณะนี้ สพฐ.วางแผนการใช้ครูล่วงหน้าเป็น 10 ปี และในอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะรู้ว่าจะต้องใช้ครูอีกจำนวนเท่าไหร่และมีเกณฑ์อย่างไร