Onlinenewstime.com : รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต คาดการณ์ถึงสถานการณ์ภัยพิบัติในไทยช่วง 6 เดือนของปีนี้ มีภัยแล้งที่ภาคเหนือและอีสาน ส่วนน้ำท่วม มีโอกาสน้อยกว่า 40% ที่จะเท่ากับปี 54 ให้จับตาพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักที่ภาคกลาง ตะวันออก และครบรอบ 10 ปีน้ำท่วมใหญ่ ในภาคใต้ ที่ผ่านมาปี 2543 2553 และปีนี้ 2563″
รศ.ดร.เสรี ให้สัมภาษณ์กับ “เวบไซต์ข่าว ออนไลน์ นิวส์ไทม์” ว่า การคาดการณ์สถานการณ์อากาศของประเทศไทย ในช่วงครึ่งปีหลังนั้นมีข้อดี คือ มีความแม่นยำและแตกต่างจากครึ่งปีแรก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ใกล้ตัวกว่า
จากหลายแบบจำลองคณิตศาสตร์ที่นำมาประเมินทั่วโลกและในภูมิภาค พบว่า ตั้งแต่ช่วงครึ่งเดือนหลังของกรกฎาคมไปจนถึงตุลาคม 2563 จะมีฝนตกหนักมาก เพราะฉะนั้นจะมีเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอน แต่โอกาสจะท่วมเท่าปี 2554 หรือไม่นั้นมีโอกาสน้อยกว่า 40%
เหตุผลในประเด็นแรก ที่น้ำไม่ท่วมเท่าปี 54 นั่นเพราะว่า ฝนในครึ่งปีแรกของปี 2563 มีปริมาณฝนน้อยกว่าปรกติ 20% ส่งผลต่อปัจจัยที่จะมีน้ำเหนือไหลลงมานั้นมีปริมาณไม่มาก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 มีฝนดีมากกว่าปรกติประมาณ 30%
ประเด็นที่สอง ช่วงครึ่งปีจากนี้ไปจนถึงปลายปี กำลังจะเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ลานินญา แต่นั่นหมายความว่า จะไม่สูงเท่าปี 2554 ที่ปรากฏการณ์ลานินญา มีความรุนแรง ติดลบ 1 ถึง -1.5 แต่มีสัญญาณจะเข้าลานินญ่าแน่ในปลายปี
นั่นหมายความว่า จากนี้ไปตั้งแต่กรกฎาคมจะมีฝนตกหนักมาก และจะมีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม โดยให้ติดตามอย่างใกล้ชิดในพื้นที่ 3 ภาค คือ ภาคกลาง ตะวันออก และภาคใต้ ที่มีฝนตกหนักและจะทำให้เกิดน้ำท่วม
“ พื้นที่ภาคใต้ น่ากังวลมาก เพราะเหมือนจะครบรอบ 10 ปีของภาคใต้ ที่มีน้ำท่วมในปี 2543 ปี 2553 และปีนี้ 2563”
ส่วนภัยแล้ง ให้ติดตามสถานการณ์ ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ยังคงมีปัญหาเรื่องภัยแล้งที่ต่อเนื่องไปถึงเดือนเมษายน 2564 เพราะมีน้ำต้นทุนที่มีปริมาณน้อยอยู่แล้วและยังเป็นข้อกังวลอยู่ ซึ่งทำให้การทำเกษตรกรรมสองภาคนี้ยังไม่ดีอย่างต่อเนื่อง และเกษตรกรต้องติดตามว่าการทำนาปรังจะสามารถทำได้เท่าไหร่หรือไม่ได้
นี่คือสถานการณ์ของประเทศไทย โดยสรุป คือให้ระวังเรื่องน้ำท่วมตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป ในพื้นที่เสี่ยง คือ ภาคกลาง ตะวันออก และใต้
เพราะฉะนั้น 3 พื้นที่นี้ เสี่ยงตกตรงไหน ตกปริมาณเท่าไรนั้น ในรายละเอียดเรากำลังประเมิน หากว่าฝนตกเท่าที่คาดการณ์แล้ว จะมีพื้นที่เสี่ยงตรงไหน เช่น ภาคตะวันออก ในพื้นที่อำเภอไหนและเป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ และพยายามจะแจ้งล่วงหน้า โดยน้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมนั้น ขึ้นอยู่ว่ากับปริมาณฝนจะตกหนัก ในพื้นที่ไหนบ้าง นี่คือ ภาพรวมของประเทศ ที่มาจากแบบจำลองคณิตศาสตร์ ที่ต้องติดตามและประเมินสถานการณ์กันต่อไป รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์กล่าว