fbpx
News update

ลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ด้วย 5 ย.

www.onlinenewstime.com กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยได้รับรายงานล่าสุดพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 1 รายที่จังหวัดบุรีรัมย์ แม้ว่าผู้เสียชีวิตในปีนี้ จะลดลงกว่าปีที่ผ่านมาหลายเท่า แต่ประชาชนต้องระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคนี้พบได้ตลอดทั้งปี แนะให้ประชาชนยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ลดความเสี่ยง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2562 ล่าสุดกรมควบคุมโรคได้รับรายงาน พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 32 ปี ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นผู้เสียชีวิตรายที่สามของปี 2562 นี้ (สองรายแรกที่จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดนครศรีธรรมราช)

จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้เสียชีวิตมีประวัติดื่มเหล้าเป็นประจำ ซึ่งญาติให้ข้อมูลว่าผู้เสียชีวิตโดนสุนัขกัดหลายครั้ง  แต่ไม่ได้ไปพบแพทย์ เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า  

ถึงแม้ว่าผู้เสียชีวิตในปีนี้ จะลดลงกว่าปีที่ผ่านมาหลายเท่า (ปี 2561 มีผู้เสียชีวิต 18 ราย) แต่ประชาชนต้องระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคนี้เป็นได้ทุกฤดูกาล เป็นได้ตลอดทั้งปี

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเชื้อเข้าทางบาดแผล ผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่มีเชื้อนี้ เช่น สุนัข แมว หนู ลิง ค้างคาว สัตว์ที่พบเป็นโรคพิษสุนัขบ้าบ่อยที่สุด คือสุนัข รองลงมาคือแมว

เมื่อคนรับเชื้อแล้ว เชื้อจะเพิ่มจำนวนในบาดแผล จากนั้นจะเดินทางเข้าสู่ระบบประสาท โดยระยะฟักตัว ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและปริมาณเชื้อที่ได้รับ เช่น ขา แขน หรือใบหน้า โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน บางรายอาจนานถึง 1 ปี อาการส่วนใหญ่มักมีไข้ ปวดศีรษะ คันรุนแรงบริเวณบาดแผล คลุ้มคลั่ง กลัวแสง กลัวลม กลืนน้ำหรืออาหารลำบาก

เมื่อผู้ติดเชื้อแสดงอาการแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ต้องเสียชีวิตทุกราย  ดังนั้น การป้องกันตนเองจากโรคพิษสุนัขบ้า และให้ปฏิบัติตนถูกต้องหลังสัมผัสโรค อย่าชะล่าใจ เมื่อสัตว์ข่วนหรือกัด ให้รีบพบแพทย์ทันที จะเป็นหนทางที่ดีที่สุด ที่จะไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับประชาชนเจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรปฏิบัติดังนี้

  1. เจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี
  2. ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง
  3. พาสุนัขหรือแมวที่ตนเลี้ยงไปทำหมัน เมื่อไม่ต้องการให้มีลูก รวมถึงแจ้งเจ้าหน้าที่ ให้มาช่วยทำหมันสุนัข/แมวที่ไม่มีเจ้าของ
  4. ลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วยการยึดหลักคาถา 5 ย. คือ
    1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห  โกรธ 
    2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 
    3. อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า
    4. อย่าหยิบ ชามข้าวหรือย้ายอาหาร ขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ
    5. อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้าน ที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ

ทั้งนี้ ประชาชนที่ถูกสุนัขหรือแมว หรือแม้กระทั่งลูกสุนัข ลูกแมว กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลือดออกที่แผลก็อย่าได้ชะล่าใจ ต้องรีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบชุด

เมื่อถูกสุนัขกัด ห้ามบีบเค้นบาดแผล ให้ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด ล้างเบาๆ นานอย่างน้อย 10 นาที จากนั้นใส่ยาเบตาดีน และ กักสุนัข/แมวที่กัด เพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 วัน และรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยการรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

วัคซีนชนิดนี้ต้องได้รับหลายครั้ง จึงขอให้ไปตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

Cr. กองโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค