fbpx
News update

สตาร์ทอัพกว่า 90 % ทั่วโลกล้มเหลว

Onlinenewstime.com : CIBA มธบ. เผยสตาร์ทอัพกว่า 90 % ทั่วโลกล้มเหลว 3 อันดับแรก ด้านไอที ก่อสร้าง และอุตสาหกรรม เหตุเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วและขาดประสบการณ์ แนะจะให้รอดต้องออกแบบธุรกิจ ให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเร็วทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้         

ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (College of Innovative Business and Accountancy: CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า ธุรกิจ Startup เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่และมาแรงในยุคนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจด้านไอที เช่น การคิดค้นแอพพลิเคชั่นต่างๆ

แต่จากรายงานของ Worldwide Business startup by Moya k. ในเว็บไซต์ Moyak.com ในปี 2019 รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสตาร์ทอัพทั่วโลก พบว่า ธุรกิจที่เกิดใหม่ มีจำนวน 137,000 รายต่อวัน หรือประมาณ 50 ล้านรายต่อปี แต่มีอัตราการล้มเหลวถึง 90 % มีเพียง 10% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ

ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ล้มเหลว 3 อันดับแรกมีดังนี้

1.ธุรกิจด้านไอที (Information)

2.ธุรกิจด้านก่อสร้าง (construction)

3.ธุรกิจด้านอุตสาหกรรม (Manufacturing)

เหตุที่ธุรกิจด้านไอทีล้มเหลวเป็นอันดับแรก เนื่องจากมี Tech startup เกิดขึ้นมามากมายแต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงเร็ว

สำหรับ สตาร์ทอัพไทย สาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะด้านไอที เนื่องมาจากการขาดประสบการณ์ในการบริหารวางแผนการทำงาน

เพราะถึงแม้มีไอเดียแต่ขาดประสบการณ์ก็ไปต่อไม่ได้ จึงต้องมี 2 อย่างร่วมกัน รวมถึงความคล่องตัว เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ไอเดียแนวคิดต้องตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน และเทรนด์ความต้องการในอนาคตข้างหน้าให้ได้ด้วย เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการขาดประสบการณ์ด้านสินค้า ความสามารถในการกำหนดราคารวมถึงต้นทุนของวัตถุดิบที่สูงเกินไป และเรื่องสิทธิประโยชน์ของภาษี ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน รวมถึงปัญหาหุ้นส่วนที่มีไอเดียสวนทางกัน         

ดร.ศิริเดช กล่าวด้วยว่า เจ้าของธุรกิจ Startup ที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ ต้องมองการบริหารความเสี่ยงหลายบริบท มีการวางแผนการตลาดที่ดี มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และเน้นการออกแบบธุรกิจ ให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ที่สำคัญต้องมี Venture Capital (VC) ที่ทุนหนาและเก่งด้านการบริหารมาช่วยธุรกิจให้โตขึ้นด้วย

ทั้งนี้การนำ Big Data มาวิเคราะห์ เพื่อคาดการณ์ความต้องการของคนในอนาคตก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจดังกล่าวอยู่รอดได้

ท้ายที่สุดหากมีการระดมทุนเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ จะทำให้ธุรกิจปลอดภัยและลดอัตราเสี่ยงในการปิดกิจการ

สำหรับธุรกิจ Startup ที่อยู่ในรูปแบบของการรวมกลุ่มของนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้กำหนด Ecosystem ระหว่างสถาบันการเงิน และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับ Startup เพื่อสร้างจุดเชื่อมโยงให้นักศึกษาและ VC เข้าถึงกัน เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียทางธุรกิจและเกิดการร่วมลงทุนในที่สุด โดยในเบื้องต้น ได้มีการร่วมลงทุนกันบ้างแล้วในส่วนของแอพลิเคชั่นที่นักศึกษาของเราได้คิดค้นขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยค้นหางาน ที่ตรงกับทักษะของตนเองและความต้องการของผู้ประกอบการได้