fbpx
News update

สตาร์ทอัพไทย คิดค้น “จับใจ บอท” ระบบหุ่นยนต์ AI สกัดโรคซึมเศร้า

Onlinenewstime.com : ร่างกายเจ็บป่วยได้ จิตใจก็สามารถเจ็บป่วยได้เช่นกันสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตในประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้น จากผลกระทบทางสังคมและภาวะเศรษฐกิจ แนวโน้มผู้ป่วยซึมเศร้าของประเทศไทย เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 1.8 ล้านคน และพบว่าปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 2-3 คน / ชั่วโมง นับเป็นความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้

สถานการณ์ดังกล่าง เป็นแรงบันดาลใจ ให้สตาร์ทอัพสายเฮลท์เทค บริษัท พอดีคำ ดอทเอไอ จำกัด ด้วยความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทุน Innovation Hub จาก ทปอ. ทีมสตาร์ทอัพประกอบด้วย ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , ดร.ยงยศ แก้วพิทักษ์คุณ Co-Founder , พณิดา โยมะบุตร นักจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จับมือกันวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพจิต เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เป็นรายแรกของประเทศไทย ในชื่อ “จับใจ บอท เพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” 

เป็นระบบหุ่นยนต์เอไอ เพื่อนคุยแสนอบอุ่น ที่สามารถตรวจจับเข้าถึงระดับจิตใจเพื่อช่วยคัดกรอง และประเมินสภาวะซึมเศร้าเบื้องต้น เพียงเข้าเพจเฟสบุ๊ค Jubjai Bot เพื่อดูว่ามีแนวโน้มป่วยซึมเศร้าหรือไม่ หากพบว่ามีอาการซึมเศร้ามาก ก็ช่วยให้ผู้ใช้ตัดสินใจไปพบแพทย์ได้เร็วขึ้น

ล่าสุดนวัตกรรม “จับใจ บอท” คว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ:ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2563  จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  นอกจากนี้ ยังสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยบนเวทีโลก โดยได้รับความชื่นชมจาก 30 ประเทศที่มาร่วมงานประชุมนานาชาติ Technology Mind & Society ซึ่งจัดโดย American Psychological Association ในรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา อีกด้วย

ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี นักวิจัยและอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า “จับใจ บอท (Jubjai Bot) เอไอคัดกรองภาวะซึมเศร้านี้ ถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่า เราอยากจะให้วัยรุ่น คนรุ่นใหม่วัยทำงานและทุกเพศวัยสามารถใช้งานได้ง่าย สะดวก และลดขั้นตอนใช้งานให้น้อยที่สุด มาเป็นแชทบอท บนสื่อโซเชียล ที่ทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี นั่นก็คือ Facebook messenger จึงสะดวกแก่ผู้ใช้ นอกจากนี้ เราพัฒนาสร้างรูปแบบการสนทนา ให้มีความเป็นกันเองและเข้าใจง่าย ผู้ใช้รู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับบอท

ฟังก์ชั่นของ จับใจ บอท ปัจจุบันมี 2 ฟังก์ชั่น ได้แก่ 

1. ประเมินระดับความซึมเศร้าภายในจิตใจ โดยในฟังก์ชั่นนี้ ผู้ใช้จะพูดคุยตามโปรแกรมบทสนทนาที่พวกเราเตรียมไว้ ซึ่งออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา จะมีทั้งคำถามปลายเปิด มีการเล่นเกมส์ตอบคำถาม โดยภายหลังจากการพูดคุย ระบบเราจะใช้ระบบ AI ในการประมวลผลคำตอบทั้งหมด ก่อนจะสรุปมาเป็นคะแนนระดับความซึมเศร้าในจิตใจ และคำแนะนำสำหรับแต่ละช่วงระดับคะแนน ซึ่งเราได้ทำการวิจัยผลที่ได้จากจับใจบอทว่า มีความใกล้เคียงกับผลที่ได้จากการประเมิน ด้วยแบบประเมินสภาวะซึมเศร้ามาตรฐาน ทำให้มั่นใจได้ถึงความถูกต้อง

2. การพูดคุยเล่น (Chitchat) ผู้ใช้จะสามารถพูดคุยกับ จับใจ บอท ในหัวข้อทั่วไป ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกผ่อนคลาย แก้เหงา และมีเพื่อนพูดคุยในเวลาที่ต้องการได้ ซึ่งในอนาคต เรามีแผนการ ที่จะพัฒนาฟังก์ชั่นให้สามารถประเมินหาสภาวะซึมเศร้าจากประวัติ พฤติกรรมการสนทนา ซึ่งจะเตือนผู้ใช้งานได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ (Proactive Alert)

ดร.ยงยศ แก้วพิทักษ์คุณ Co-Founder บริษัท พอดีคำ ดอทเอไอ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เข้ามาพูดคุยกับ Jubjai Bot แล้วกว่า 110,000 ราย วิธีใช้งาน ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปใช้งานโดยเสิร์ชหาคำว่า Jubjai Bot ในช่องค้นหา ของแอพลิเคชั่นเฟสบุ้ค หลังจากเข้ามาที่หน้าเฟสบุ้คเพจจับใจบอทแล้ว ก็สามารถกดปุ่ม “ส่งข้อความ” เพื่อเริ่มคุยได้ทันที 

ประโยชน์ของจับใจ คือ ระบบ เอไอ แชทบอท เป็นระบบสนทนาอัตโนมัติ สามารถใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา ใช้งานได้ฟรี รวมทั้งยังมีความเป็นส่วนตัวสูง จึงทำให้คนรุ่นใหม่ และผู้ใช้ทุกวัย สามารถประเมินสภาวะซึมเศร้าได้ด้วยตัวเอง และเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วขึ้น จุดเด่น คือเป็นแชทบอทแรกในประเทศไทย ที่เน้นไปที่การประเมินสภาวะทางอารมณ์ของผู้ใช้ ควบคู่ไปกับเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งแชทบอททั่วไป ไม่ได้เน้นเกี่ยวกับจิตใจ

พณิดา โยมะบุตร หนึ่งในทีมวิจัยนักจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยทางอารมณ์ แบ่งออกเป็น 3 แบบ 

1. Major Depressive Disorder คือโรคซึมเศร้าแบบที่มีอาการรุนแรงต่อเนื่อง สองสัปดาห์ขึ้นไป มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างชัดเจน 

2. Dysthymia คือมีความเศร้าไม่รุนแรง แต่มีระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน รบกวนการดำเนินชีวิตพอสมควร 

3. Bipolar Disorder ในช่วงที่มีช่วงอารมณ์ซึมเศร้าเป็นอาการหลัก ซึ่งอาการเหล่านี้ต้องให้จิตแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย

การรักษาโรคซึมเศร้า จะต้องรักษาทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านอารมณ์ ด้านความคิด และด้านร่างกาย (การเสียสมดุลของสารเคมีในสมอง) โดยในการรักษา จะต้องทำให้ครอบคลุมทุกด้าน จะมีการใช้ยาในการรักษาด้วย เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จะมีอาการผิดปกติในการทำงานของสารเคมีในสมอง

ส่วนการรักษาทางด้านความคิดและการจัดการอารมณ์ จะใช้การทำจิตบำบัด ซึ่งเป็นการพูดคุยตามหลักการทางจิตวิทยา นอกจากนี้ความเข้าใจ ใส่ใจ และการเป็นผู้ฟังที่ดี ของคนรอบข้าง เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผู้ป่วยซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี

บทบาทของนักจิตวิทยาในการดูแลผู้ป่วยซึมเศร้านั้น จะเริ่มตั้งแต่การประเมิน โดยแบบประเมินมาตรฐานทางจิตวิทยาคลินิก และการบำบัดรักษาทางจิตสังคมโดย ใช้การพูดคุยหรือการทำจิตบำบัด เพื่อประคับประคองอารมณ์ ปรับกระบวนการคิด มุมมอง และสร้างทักษะการจัดการกับอารมณ์และปัญหา

ซึ่ง “จับใจแชทบอท” นี้ ถือเป็นเครื่องมือ ที่นอกจากจะเอื้อให้บุคคลทั่วไปสามารถประเมินภาวะซึมเศร้าของตนเองได้แล้ว ผู้ป่วยที่รับการรักษาอยู่ ยังสามารถใช้แชทบอทนี้ ประเมินความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอารมณ์ตนเอง เพื่อนำไปให้ข้อมูลแก่ผู้รักษาหรือนักจิตวิทยาของตนได้อีกด้วย