fbpx
News update

สธ.ร่วมภาคีเครือข่ายกำกับดูแลผักผลไม้ปลอดสารพิษตลอดห่วงโซ่อาหาร

Onlinenewstime.com : ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมภาคีเครือข่ายกำกับดูแล ผัก ผลไม้ปลอดสารพิษ ตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำการผลิตถึงปลายน้ำสู่มือผู้บริโภค รณรงค์แบนการใช้ 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร ส่งเสริมเกษตรกรปลูกผักผลไม้ด้วยเกษตรอินทรีย์ ให้ผู้บริโภคเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เผยผลการตรวจผักผลไม้นำเข้าที่ด่านและตลาดส่วนใหญ่ยังปลอดภัยจากสารพิษ

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) สุ่มตรวจพบ ผัก ผลไม้มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างหลายชนิด ว่า การกำกับดูแลความปลอดภัยของผัก ผลไม้ มีการดำเนินการร่วมกันเป็นเครือข่ายหลายหน่วยงาน เพื่อดูแลความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลเรื่องวิธีการเพาะปลูกของเกษตรกร การอนุญาตวัตถุอันตรายที่ใช้ทางการเกษตร และการนำวัตถุอันตรายไปใช้อย่างถูกวิธี 

ส่วนกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ช่วยคุ้มครองผู้บริโภคในปลายน้ำ ด้วยการตรวจสอบและเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้นำเข้าที่ด่านอาหารและยา 52 แห่งทั่วประเทศ และผักผลไม้ที่จำหน่ายในตลาดทั่วประเทศ โดยส่งตรวจกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ทั้งนี้ จากการตรวจวิเคราะห์ผักและผลไม้ในปี 2563 พบว่า ณ สถานที่ผลิต (คัดและบรรจุ) และสถานที่จำหน่าย ได้แก่ ห้างค้าปลีก ค้าส่ง ตลาดนัด ตลาดสดทั่วประเทศ ตรวจวิเคราะห์ผักผลไม้ทั้งหมด 416 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 354 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 85.1 เช่น กะหล่ำปลี กระเทียม แครอท แตงกวา ผักกาดขาว กล้วย สับปะรด แอปเปิ้ล องุ่นเขียว เมลอน เป็นต้น

ส่วนที่ด่านอาหารและยาตรวจ 890 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 698 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 78.43 เช่น กระเทียม มันเทศ หอมหัวใหญ่ เห็ด เป็นต้น

นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า สำหรับผัก ผลไม้ที่ตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน จัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หากตรวจพบที่ด่านอาหารและยาจะมีการอายัดสินค้า เพื่อทำลายหรือส่งกลับประเทศต้นทาง ไม่ให้มาถึงมือประชาชน

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมถึงเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช รณรงค์ให้เกษตรกรงดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการปลูก ส่งเสริมวิถีเกษตรอินทรีย์ และร่วมแบนสารเคมีอันตรายทางเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพื่อความปลอดภัยทั้งตัวเกษตรกรเอง ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

ส่งเสริมผู้บริโภคเลือกซื้อผัก ผลไม้สดจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือมีตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ และแนะนำการล้างผักผลไม้สดที่ถูกวิธีเพื่อช่วยลดสารพิษตกค้าง