Onlinenewstime.com : กรมพัฒน์ฯ เร่งสร้างมาตรฐานธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ให้มีศักยภาพ เพิ่มทางรอดให้ธุรกิจแฟรนไชส์ยุค โควิด-19 และช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการลงทุนประกอบธุรกิจ ตลอดจนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มขึ้น เปิดรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ ประจำปี 2564 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 13 มีนาคม 2564
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ ถือเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ความสำเร็จได้ง่ายกว่าการเริ่มต้นทำธุรกิจเอง แต่ความสำเร็จของการทำธุรกิจแฟรนไชส์ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความตั้งใจ และความใส่ใจในการ “เลือกแฟรนไชส์” ด้วย
โดยผู้สนใจลงทุนจำเป็นต้องเลือกแฟรนไชส์อย่างพิถีพิถัน ทำความเข้าใจในข้อมูล ศึกษาเงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ ให้รอบคอบ เพื่อลดโอกาสเสี่ยง และเพิ่มโอกาสสำเร็จได้มากที่สุด โดยแฟรนไชส์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการลงทุนประกอบธุรกิจให้สามารถประกอบธุรกิจได้โดยง่าย เนื่องจากมีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาตลอดการประกอบธุรกิจ
ธุรกิจแฟรนไชส์จะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่นั้น ต้องดูว่าได้ผ่านกระบวนการสร้างมาตรฐานมามากน้อยเพียงใด เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐาน จะเป็นรากฐานเสริมสร้างความเข้มแข็งและความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจต่อไป
ดังนั้นมาตรฐานแฟรนไชส์ที่ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ต้องให้ความสำคัญ คือ ระบบการปฏิบัติงาน คุณภาพของสินค้าและมาตรฐานการให้บริการ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแฟรนไชส์ซอร์ (เจ้าของแบรนด์) และแฟรนไชส์ซี (ผู้ซื้อสิทธิแฟรนไชส์) องค์ประกอบเหล่านี้ คือ เกณฑ์มาตรฐานแฟรนไชส์ ที่เป็นตัวชี้วัดว่าธุรกิจจะมีโอกาสเติบโตหรือไม่
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ให้มีมาตรฐาน โดย แฟรนไชส์ที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการบ่มเพาะองค์ความรู้และทักษะการสร้างมาตรฐานธุรกิจ ได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง ของแต่ละธุรกิจ ที่สำคัญยังมีการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการ เป็นรายธุรกิจ
รวมทั้งการช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และการคิดต่อยอดจากการศึกษาดูงานธุรกิจแฟรนไชส์ที่เป็นต้นแบบที่ดี ซึ่งที่ผ่านมา มีธุรกิจเข้ารับการประเมินผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินจากกรมฯ และยังดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ จำนวน 351 ราย โดยในปีนี้คาดว่าจะมีธุรกิจที่ผ่านการตรวจประเมินจำนวน 40 ราย
สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ คือ ธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคล ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ไม่น้อยกว่า 1 ปี มีร้านต้นแบบและมีแฟรนไชส์ซีอย่างน้อย 1 สาขา มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และมีความมุ่งมั่นตั้งใจ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดโครงการ
เปิดรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจ แฟรนไชส์ที่สนใจร่วมโครงการแล้ว ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 13 มีนาคม 2564 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์
อธิบดี กล่าวทิ้งท้ายว่า นักลงทุน ยังให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ เพราะเป็นทางลัดในการทำธุรกิจ การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ จะทำให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตสูง ดังนั้น สิ่งที่แฟรนไชส์ซอร์ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การเรียนรู้แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ปรับเปลี่ยนและระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในยุคโควิด – 19 การควบคุมต้นทุน และการจัดกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570, โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5953, e-Mail : franchisedbd@gmail.com