fbpx
News update

“สัมมนารอบกรุง”เครื่องมือใหม่ “ทีเส็บ” ส่งเสริมการประชุมในประเทศ

www.onlinenewstime.com : นัยสำคัญหนึ่งทางด้านการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยที่เห็นได้อย่างประจักษ์ชัดคือ รายงานของสมาคมการประชุมนานาชาติระดับโลก ปี 2561 (International Congress and Convention Association – ICCA) ซึ่งระบุว่า อุตสาหกรรมไมซ์ไทย อยู่ในอันดับ 4 ของเอเชีย ด้านการประชุมนานาชาติ ด้วยจำนวน 193 งาน รองจาก ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ยกระดับขึ้นจากปี 2560 ซึ่งไทยอยู่ในอันดับ 5 ของเอเชีย ทั้งยังถือเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน โดยมีจำนวนงานประชุมนานาชาติ 171 งาน

ICCA ยังระบุด้วยว่า ในด้านการประชุมนานาชาติระดับเมือง กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับ 2 (135 งาน) เชียงใหม่ อันดับ 25 (25 งาน) และพัทยา อันดับ 60 (11 งาน) โดยพบว่า การจัดการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) ในประเทศไทยมีการเติบโตสูงสุดทั้งจำนวนคนและรายได้ คิดเป็นการเติบโตด้านจำนวนคน 18% และรายได้ 180% โดยเมืองไมซ์ 5 อันดับแรกที่มีนักเดินทางไมซ์เข้ามามากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และพัทยา

ประกอบกับผลการวิจัยของ บริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน (ไทยแลนด์) จำกัด พบว่า ในปี 2561 ผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากอุตสาหกรรมไมซ์ นอกจากการใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมงาน ยังมีค่าใช้จ่าย ที่เกิดจากการจัดกิจกรรมไมซ์ทั้งสิ้น (Total Expenditure) เป็นมูลค่าถึง 251,400 ล้านบาท

เพิ่มขึ้นจาก 230,000 ล้านบาทในปี 2560 โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 316,000-405,000 ล้านบาทในปี 2565 โดยผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจของกิจกรรม ในอุตสาหกรรมไมซ์มีมูลค่า 177,200 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทย (GDP Contribution) ก่อให้เกิดการจ้างงาน 181,000 ตำแหน่ง และสามารถจัดเก็บภาษีให้กับประเทศไทยได้กว่า 23,400 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก ในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ จึงกำหนดแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้ 3 เป้าหมายยุทธศาสตร์หลักคือ “สร้างรายได้ – กระจายรายได้สู่ภูมิภาค – พัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยนวัตกรรม” 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการกระตุ้นนักเดินทางไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ ในปีงบประมาณ 2562 รวมทั้งสิ้น 35,982,000 คน สร้างรายได้ 221,500 ล้านบาท โดยกำหนดเป็น นักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1,320,000 คน สร้างรายได้ 100,500 ล้านบาท และนักเดินทางชาวไทย ที่เดินทางเข้าร่วมงานไมซ์ ในประเทศ 34,662,000 คน สร้างรายได้ 121,000 ล้านบาท

“สัมมนารอบกรุง” เครื่องมือใหม่ ส่งเสริมการประชุมในประเทศ

นายสราญโรจน์ สวัสดิ์ชูโต ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ (Domestic MICE) “ทีเส็บ”กล่าวว่า“ทีเส็บ” กำหนดยุทธศาสตร์ การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ โดยมุ่งเน้นด้านมิติการพัฒนาพื้นที่ เพื่อเพิ่มและยกระดับสถานที่จัดงาน รวมถึงกิจกรรมใหม่เพื่อรองรับการจัดงานไมซ์ โดยร่วมกับ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) จัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” โครงการสร้างการรับรู้สินค้าและบริการไมซ์ (Domestic Fam Trip) ประจำปี 2562 พร้อมมอบหมายออร์แกไนเซอร์ชั้นนำ “PAULA&CO.” นำคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรมนุษย์ (HR) จากองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาตนเองรูปแบบใหม่ ในเส้นทางเช้าไป-เย็นกลับ ไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยรอบกรุงเทพฯ

การจัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” มีทั้งสิ้นรวม 3 ครั้งคือ จ. ฉะเชิงเทรา เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2562 จ. สมุทรปราการ เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2562 และ จ. นครปฐม เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2562 

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการแนะนำเส้นทางใหม่ให้องค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการจัดกิจกรรมด้าน การประชุม ได้มีโอกาสสัมผัสบริการด้านอุตสาหกรรมไมซ์ในรูปแบบใหม่ ทั้งสถานที่จัดงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังการประชุม เพื่อรองรับกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญ ในการเพิ่มการรับรู้ในเส้นทางเหล่านี้มากขึ้น ทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนให้ประเทศไทย เดินหน้าสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการจัดกิจกรรมไมซ์ ที่หลากหลายระดับคุณภาพ

เรียนรู้ “Agile and Scrum” ที่สวนสามพราน

กิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” ครั้งสุดท้าย ณ จ.นครปฐม จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สร้างคนและองค์กรผ่าน Agile and Scrum ในชุมชน” โดยนำผู้ร่วมสัมมนารวม 35 ราย ไปยังจุดหมายแรกคือ “สวนสามพราน” สถานที่สร้างงาน – สร้างชีวิตให้ผู้คนในชุมชน พร้อมนั่งเรือข้ามฝั่งแม่น้ำท่าจีน ไปรับฟังบรรยายเรื่อง “สามพรานโมเดล” โดย นายอรุษ นวราชกรรมการผู้จัดการโรงแรมสวนสามพราน และมูลนิธิสังคมสุขใจ ก่อนที่จะนำผู้ร่วมสัมมนา ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ ณ ปฐมออร์แกนิกฟาร์ม เพื่อศึกษาวิถีชีวิตเกษตรกรไทย และเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์แบบพึ่งพาตนเอง

จากนั้นยังร่วมกิจกรรม “Agile Cooking Workshop”การปรับปรุงการทำงานรูปแบบใหม่ที่นำผู้ร่วมสัมมนาก้าวสู่ยุค Digital Tranformation ด้วยการทำอาหาร โดยมี อาจารย์ดามพ์ มงคล หงษ์ชัย ผู้ก่อตั้ง “Agile Picnic Meetup” และ “Agile Passion Conference” ทั้งในประเทศไทยและเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่เป็นโค้ชผู้ชี้แนะ ให้ความรู้แก่ผู้ร่วมสัมมนาด้วยวิธีง่ายๆ ที่มากไปด้วยสาระและบันเทิง

นั่นคือ เริ่มจากจัดกลุ่มผู้สัมมนาเป็น 4 ทีมคือ สีเหลือง แดง เขียว และน้ำเงิน เพื่อให้แต่ละทีมทำอาหารที่ต้องการ โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่อันน้อยนิด ภายในเวลา 10 นาที (รวมถึงจุดไฟจากเตาถ่าน) โดยมี อาจารย์ดามพ์ ทำหน้าที่เป็นลูกค้ าลองลิ้มชิมรส ซึ่งแน่นอนว่า ผลที่ออกมาล้วนไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ ทั้งรสชาติและรูปลักษณ์

แต่เมื่อ อาจารย์ดามพ์ แนะนำให้ความรู้เรื่อง “Agile and Scrum” พร้อมเปิดโอกาสให้แต่ละทีม ลองทำอาหารอีกครั้ง โดยให้แต่ละทีม สรรหาลูกค้าต่างทีมคือ สีเหลืองได้ลูกค้าสีแดง สีแดงได้ลูกค้าสีเขียว สีเขียวได้ลูกค้าสีน้ำเงิน สีน้ำเงินได้ลูกค้าสีเหลือง พร้อมให้เวลา 10 นาทีเท่าเดิม แต่แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ช่วงละ 5 นาที เพื่อให้แต่ละทีม มีโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น พร้อมทดสอบความต้องการของลูกค้า เพื่อนำมาปรับปรุงรสชาติอาหารและผลิตภัณฑ์

ไม่น่าเชื่อว่า ผลลัพธ์ที่ได้ช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในเวลาที่เท่ากัน!

นั่นเป็นเพราะ การ “Agile and Scrum” ทำให้ทุกคนในทีมมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน รวมถึงการสื่อสารกับลูกค้า อันนำมาซึ่งการปรับปรุง พัฒนาการทำงานทุก ๆ ด้าน เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า

จึงเป็นเรื่องแปลกใจอย่างสิ้นเชิง ที่อาหารแต่ละจาน ล้วนถูกรังสรรค์ออกมาได้อย่างวิจิตร ทั้งรสชาติ และรูปแบบการจัดจาน ทั้ง “กล้วยบวดชี” จากทีมสีเหลือง “ผัดผักสี่สหาย” จากทีมสีแดง “สุกี้แห้ง” จากทีมสีเขียว และ “ยำไข่ดาว” จากทีมสีน้ำเงิน

แนวคิด “Agile and Scrum”

อาจารย์ดามพ์ อธิบายถึงแนวคิด “Agile and Scrum” ว่าเป็นการประยุกต์การทำงาน ในอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อแทนที่การวางแผน กำหนดเป้าหมาย และมุ่งไปในครั้งเดียว โดยเปลี่ยนเป็นวางแผนและทำงานไปทีละนิด ๆ และคอยประเมิน ว่าควรดำเนินการต่อไปไหม

พร้อมกำหนดเป้าหมายระยะสั้น และค่อย ๆ ดำเนินงานไป เพราะเมื่อพบกับปัญหา จะสามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้น หรือเมื่อได้รับความต้องการจากลูกค้า (Requirement) ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็จะสามารถรับมือ และแก้ไขได้ทันที โดยไม่เน้นกระบวนการและเอกสาร

แต่จะเน้นการพัฒนาสินค้า ให้ดีที่สุด มากกว่าจะยึดติดกับเอกสารต่าง ๆ พร้อมกับต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตลอดเวลา เพราะความต้องการของลูกค้า อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเช่นกัน

แนวคิดการทำงานแบบ Agile จึงเป็นในลักษณะทำทีละนิด แต่ทำบ่อย ๆ คือมีการส่งมอบงานอะไรบางอย่าง ให้ทีม หรือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทีละเล็กทีละน้อย เช่น ส่งมอบอะไรใหม่ทุก ๆ 2 สัปดาห์ หรือทุก ๆ เดือน โดยไม่ให้ลูกค้าต้องรอนาน 3-6 เดือน

การทำงานแบบ Agile จึงเน้นการทำงานเป็นทีม มากกว่าที่จะสนใจกระบวนการ โดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มากกว่าที่บอกว่า ต้องเป็นไปตามกระบวนการ โดยอาจให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่เริ่มกระบวนการด้วย ทำให้การทำงานในแนวคิด Agile ไม่มีกำแพงกั้น ระหว่างบุคลากรแต่ละฝ่าย

เพราะเป็นการนำบุคลากรทุกฝ่าย มาอยู่ในทีมเดียวกัน เน้นการสื่อสารระหว่างบุคคล ทำให้ลดความไม่เข้าใจระหว่างกัน จึงทำให้เกิดกรอบการทำงาน ในลักษณะ “Scrum” คือทุกคนในทีม ช่วยกันรุมทำงานนั่นเอง

ผู้ร่วมสัมมนา ยังมีโอกาสร่วมกิจกรรม “Table Top Sale” ในการพบปะ กับผู้ประกอบการด้านที่พัก และบริการต่าง ๆ ในจังหวัดนครปฐม ซึ่งมาร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการ พร้อมแนะนำสถานที่ สำหรับการจัดประชุมอบรมสัมมนา ให้แก่ผู้ร่วมสัมมนา ณ ห้องเจด โรงแรมสวนสามพราน

ชมวิถีชุมชนชาวบ้านดั้งเดิมใกล้เมืองกรุง

กิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” ครั้งนี้ยังนำผู้ร่วมสัมมนา เดินทางไปยัง ชุมชนบ้านศาลาดิน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เริ่มจากการนั่งรถอีแต๊ก ชมสวนผลไม้อินทรีย์ พร้อมร่วมทำขนมข้าวตู ณ “สวนผลไม้ลุงบุญเลิศ” ก่อนที่จะล่องเรือ ไปตามคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อไปชม “นาบัวลุงแจ่ม” พร้อมร่วมกิจกรรมจีบ (พับ) ดอกบัว และพายเรือชมดอกบัว

ก่อนที่จะกลับมายัง“บ้านข้าวตังศาลาดิน” เพื่อรับฟังการทำข้าวตัง โดยปราชญ์ชาวบ้าน ในเรื่องการแปรรูปข้าว ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชม หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ประจำปี 2552 บ้านศาลาดิน หมู่ที่ 3 ต.มหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งนอกจากจะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในชุมชนแล้ว ยังมีการสาธิต ให้บริการสปาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสปาเกลือเท้า สปาน้ำเท้า สปาสมุนไพรโอ่ง และอื่น ๆ

ก่อนที่จะนำผู้ร่วมกิจกรรมไปเยี่ยมชม “วู้ดแลนด์เมืองไม้” (WOOD LAND) ของ นายณรงค์ ทิวไผ่งาม ณ ต.ดอนแฝก อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งสะสมงานไม้แกะสลัก ที่วิจิตรและพิสดารมากกว่า 1 พันชิ้นเป็นระยะยาวนานมากกว่า 30 ปี ปิดท้ายด้วยกิจกรรม “Scrumban”โดย อาจารย์ดามพ์ มงคล หงษ์ชัย ก่อนจะนำผู้ร่วมสัมมนา เดินทางกลับกรุงเทพฯ

ถือเป็นการสัมมนา ที่ผู้ร่วมกิจกรรมได้รับทั้งความเพลิดเพลิน และสาระอย่างคุ้มค่าไม่น้อย ผู้สนใจ หรือองค์กรที่ต้องการจัด “สัมมนารอบกรุง” สามารถติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณเดย์ โทร.0 2048 5838 และ 09 9041 0564 หรือ e-Mail : mice@paula-dmc.com