Onlinenewstime.com : ณ ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมพร้อมใช้และปัญญาประดิษฐ์
นำร่องในชุมชนต้นแบบ 10 แห่ง ครอบคลุม 10 จังหวัด ทั่วประเทศ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หน่วยงานซึ่งให้ทุนสนับสนุนมาร่วมแสดงความยินดี
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่าการลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การสร้างประโยชน์จากการใช้นวัตกรรม มาช่วยยกระดับการท่องเที่ยวในระดับชุมชน จนถึงระดับแหล่งท่องเที่ยว ไปสู่ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
นำไปสู่การต่อยอดและพัฒนา เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ของชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งการทำงานร่วมกับ NECTEC ในครั้งนี้ช่วยส่งเสริมให้ชุมชน ได้รับประโยชน์จากการบูรณาการข้อมูลทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมดิจิทัลให้สามารถเชื่อมโยงไปสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ในการสื่อความหมายนำเที่ยวได้ในระยะยาว
โดยโครงการนี้ ชุมชนจะได้มีโอกาสนำข้อมูลทั้งด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม มาบรรจุในแพลตฟอร์ม“นวนุรักษ์” ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญ ที่สามารถนำไปต่อยอดหรือขยายผลในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว และการตลาด
โดย MOU ครั้งนี้ มีระยะเวลาความร่วมมือนาน 3 ปี ซึ่ง อพท. และ เนคเทค จะร่วมกันนำเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ไปเสริมศักยภาพให้กับชุมชนขยายวงกว้าง
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. กล่าวว่า สืบเนื่องจากการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อยกระดับและฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยหลังภาวะโควิด19” ซึ่ง เนคเทค สวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก แผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
เพื่อการพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มต้นแบบที่เนคเทคพัฒนาขึ้นในชื่อว่า “นวนุรักษ์” โดยเน้นไปที่การบูรณาการข้อมูลวัฒนธรรมดิจิทัล ให้สามารถเชื่อมโยงและใช้งานในรูปแบบเปิด (linked data and open data) และพัฒนาโมดูลต่างๆ เพื่อขยายแพลตฟอร์มดิจิทัลให้รองรับการนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อตอบโจทย์บริบทการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นำร่องทดลองกับพื้นที่ในการดูแล และได้รับคำแนะนำจาก อพท. จำนวน 10 พื้นที่ 10 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ 1) ชุมชนบ้านท่าระแนะ จังหวัดตราด 2) ชุมชนบ้านหนองอ้อ จังหวัดสุโขทัย 3) ชุมชนบ่อสวก จังหวัดน่าน
4) ชุมชนท่องเที่ยวเมืองเก่าภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 5) ชุมชนบ้านท่าดินแดง จังหวัดพังงา 6) ชุมชนไทญ้อบ้านโพน จังหวัดนครพนม
7) ชุมชนบ้านโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ 8) ชุมชนบ้านสุขสมบูรณ์ จังหวัดนครราชสีมา 9) ชุมชนเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
โดยทั้ง 9 ชุมชน เป็นชุมชนต้นแบบในความดูแลของ อพท. และชุมชนที่ 10 คือ ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุง จังหวัดลพบุรี
ทั้งนี้ เนคเทค สวทช. ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อเข้ามาช่วยเป็นสื่อกลางซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการนำเทคโนโลยีจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาในส่วนกลางอย่าง เนคเทค ไปขยายผลถ่ายทอดสู่ชุมชนซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จริง ได้แก่
1) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต 2) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3) มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ 4) วิทยาลัยชุมชนน่าน
5) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร 6) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 7) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี และ 8) มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
อย่างไรก็ตามเนคเทค สวทช.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมพร้อมใช้และปัญญาประดิษฐ์ ที่ศูนย์ฯ วิจัยและพัฒนาอย่างทุ่มเทตลอดมา ได้เข้าไปมีส่วนช่วยบูรณาการข้อมูลในการพัฒนาและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว
และหวังว่าจะได้มีความร่วมมือกันพัฒนางานวิจัยใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต