Onlinenewstime.com : เป็นที่ทราบกันดีว่า แบรนด์ที่แข็งแกร่งจะสามารถสร้างความผูกพันกับผู้บริโภคได้อย่างมาก ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่แบรนด์เทคโนโลยีต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้นจากข้อเท็จจริง Google, Amazon, Netflix และแม้แต่ eBay ต่างก็ติดอันดับแบรนด์ที่ผู้บริโภคมีการค้นหามากที่สุดทั่วโลก ซึ่งในยุคนี้ ยากจะจินตนาการการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่มีแบรนด์เหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้องได้เลย
อย่างไรก็ตาม ความชื่นชอบในแบรนด์ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วเช่นกัน เว็บไซต์ Visual Capitalist เผยแพร่ข้อมูลการค้นหาของผู้บริโภคทั่วโลก อ้างอิงจาก Business Financing โดยเป็นสถิติการค้นหาในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา จากคีย์เวิร์ดการค้นหาของ Google และแหล่งอื่น ๆ เพื่อแสดงให้เห็น แบรนด์ที่มีผู้บริโภคค้นหามากที่สุดในโลก
เทคฯแบรนด์
แน่นอนว่าแบรนด์ที่ผู้บริโภคค้นหามากที่สุดในโลกก็คือ Google ซึ่งมาจากความสะดวกและความคุ้นเคยมาอย่างยาวนาน โดย Google ติดอันดับหนึ่งใน 100 ประเทศที่เป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนประเทศทั้งหมดบนโลก กับสถิติการเข้าชมมากกว่า 90 พันล้านครั้ง/เดือน Google จึงโดดเด่นเหนือแบรนด์อื่น และได้ครองอันดับหนึ่งจากใจผู้บริโภคทั้งด้านความภักดีในแบรนด์ (brand loyalty) และสถิติการเข้าเยี่ยมชม
แบรนด์ผู้บริโภคที่มีผู้ค้นหามากที่สุด 3 อันดับแรก
- Google: 100 ประเทศ
- Netflix: 45 ประเทศ
- Amazon: 30 ประเทศ
Netflix มาเป็นอันดับสอง โดยครองการค้นหาสูงสุดใน 45 ประเทศ รวมไปถึง ตุรกี บราซิลและเกาหลีใต้
สำหรับอันดับ 3 Amazon ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดใน 30 ประเทศ
อันดับที่ 4 ที่เป็นของ eBayและบริษัทเดียวที่ไม่ใช่แบรนด์เทคโนโลยี แต่สามารถเข้ามาใน Top 5 ก็คือ IKEA
แบรนด์ในใจสายเกม
หากหันมามองในพื้นที่ตลาดเกมที่เป็นแบรนด์ครองใจผู้บริโภค เราจะได้เห็นเรื่องราวของแบรนด์ที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน Epic Games ครีเอเตอร์ของเกมดังระดับโลก Fortnite และ Grand Theft Auto ครองชาร์ตทั่วโลกด้วยอัตรารายได้มหาศาล ก่อตั้งขึ้นที่ Potomac รัฐ Maryland
แบรนด์ Epic Game ติดอันดับสูงสุดใน 141 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่ Nintendo ติดอันดับใน 24 ประเทศ รวมถึง ญี่ปุ่น เฮติและแคนาดา ตามมาด้วย Gameloft แบรนด์สัญชาติฝรั่งเศสในอันดับที่ 3
แบรนด์แฟชั่นยอดฮิต
นับตั้งแต่การก่อตั้งในปี 1964 เป็นต้นมา Nike กลายเป็นผู้สร้างแบรนด์ที่โดดเด่น และเป็นแบรนด์แฟชั่น ที่มีการค้นหามากที่สุดใน 49 ประเทศ ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการคือ Phil Knight ผู้ก่อตั้ง ดูจะเริ่มเข้าใจอำนาจของการสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง เมื่อรายได้ทะยานไปถึง 1 พันล้านเหรียญ
หลังประสบความล้มเหลวและผิดพลาดหลายครั้ง ในช่วงกลางปี 1980 Nike ได้เปลี่ยนโฟกัสจากการตลาด และการผลิต มามุ่งเน้นไปที่ผู้บริโภคอย่างแท้จริง
กรณีใกล้เคียงกับ Nike แบรนด์ค้าปลีกสัญชาติสวีเดน H&M ที่มีประวัติยาวนานย้อนหลังไปถึงปี 1947 ก่อนเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด – 19 H&M บริหารร้านค้าถึงกว่า 5,000 แห่งทั่วโลก แต่เมื่อเกิดวิกฤตของโควิดที่ยืดเยื้อ H&M จำเป็นต้องวางแผนปิดร้านค้าถึงกว่า 250 แห่งในปี 2021 นี้ โดยมุ่งเน้นไปที่การขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น
ว่าด้วยเรื่องฟาสท์ฟู้ด
สำหรับกลุ่มร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด แบรนด์ที่ได้รับการค้นหามากที่สุดคือ McDonald’s ที่ติดอันดับสูงสุดในระดับโลก แต่แบรนด์ที่ตามมาติดๆแบบไม่ทิ้งห่างก็คือ KFC ที่ได้อันดับ 2 โดยมียอดติดอันดับการค้นหาจาก 65 ประเทศ รวม รัสเซีย เปรู และประเทศไทยของเรา
ขณะเดียวกัน Pizza Hut ซึ่งเป็นแบรนด์จากบริษัทแม่เดียวกันกับ KFC ได้รับยอดการค้นหามากที่สุดในอเมริกา ที่น่าแปลกใจก็คือ แอนตาร์กติกา ซึ่งจัดให้ Baskin Robbins อยู่ในอันดับต้น ๆ อย่างไรก็ตามผลการจัดอันดับนี้ อาจได้รับอิทธิพลจากปริมาณการค้นหาที่มีจำนวนไม่มากนักในภูมิภาคนี้
แบรนด์ในใจผู้บริโภคที่ฉีกกฎสากล
ที่ผ่านมาเราจะพบว่าเทรนด์ใดก็ตามที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กับแบรนด์ชั้นนำ จะสะท้อนอย่างชัดเจนว่าเป็นการครอบงำของแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเห็นมีการกระจุกตัวอยู่ในสหรัฐอเมริกา
ทว่าจากการรวบรวมสถิติในครั้งนี้ เราได้สังเกตพบความผิดปกติที่น่าสนใจ ตัวอย่างในประเทศจีน ที่เสิร์ชเอ็นจิ้น Baidu เป็นแบรนด์ผู้บริโภคอันดับต้น ๆ ของการค้นหาบนอินเทอร์เน็ต และในอีกด้าน บริษัทเกมที่มีผู้ค้นหามากที่สุดของ Vatican คือ BioWare แบรนด์สัญชาติแคนาดา ที่เป็นผู้พัฒนาซีรีส์ Mass Effect
ขณะเดียวกันที่ ใน Saint Helena (เกาะที่นโปเลียนถูกเนรเทศและเสียชีวิตในเวลาต่อมา) มี Burger King เป็นแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดที่มีผู้ค้นหามากที่สุด ทั้งๆที่ในเกาะห่างไกลนี้ ดูเหมือนจะไม่มี Burger King หรือเครืออาหารฟาสท์ฟู้ดใดๆเลย
มาดูแบรนด์แฟชั่น ที่ติดอันดับชั้นนำของเคนยาคือ Louis Vuitton ในขณะที่ประเทศ Turkmenistan นิยมแบรนด์ Gucci เป็นอันดับ 1
ในที่สุดแล้ว ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในรายพื้นที่ แต่ความต้องการของผู้บริโภคจำนวนมาก ที่ได้สถิติจากปริมาณการค้นหา ก็ยังคงมีความคล้ายคลึงกันในระดับโลก แบรนด์ข้ามชาติ ต่างยังได้รับรายได้ และส่วนแบ่งการตลาดที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง เราอาจต้องรอดูสัญญาณใหม่ๆจากผู้บริโภคทั่วโลก ว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเรื่องนี้อย่างไรในอนาคต