fbpx
News update

อีเลคโทรลักซ์เผยเยาวชนไทยเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

Onlinenewstime.com : ผลสำรวจเชิงลึกล่าสุด ที่อีเลคโทรลักซ์ได้ทำการศึกษาในกลุ่มเยาวชนเกือบ 14,000 คนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เปิดเผยว่าคนรุ่นใหม่ ไม่เพียงเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างจริงจังเพื่อโลกที่ดีขึ้น แต่ยังเชื่อมั่นว่าตนเองมีบทบาทสำคัญ ในการเป็นผู้สนับสนุนและผู้นำเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น

การสำรวจครั้งใหญ่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของอีเลคโทรลักซ์ ที่จะบรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายสำหรับปี 2030 (พ.ศ. 2573) ในการสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยั่งยืนยิ่งขึ้นให้กับผู้คนทั่วโลก โดยการสอบถามมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ผลการศึกษาจากเยาวชนไทย 1,127 คนที่ร่วมตอบแบบสอบถามพบว่า ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนนั้น 12% เชื่อมั่นว่าตัวเองมีบทบาทสำคัญ ขณะที่ อีก 12% เชื่อว่าอินฟลูเอนเซอร์มีบทบาท และอีก 10% เชื่อว่าเป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์

ขณะที่มีเพียง 6% เท่านั้นที่เชื่อว่า คนวัยผู้ใหญ่จะรับผิดชอบในเรื่องนี้ หกในสิบ หรือ 62% ยังเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะสามารถแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้จริง

จากผลการศึกษานี้ อีเลคโทรลักซ์ ได้เชิญชวนเยาวชนทั่วโลกมาทำงานร่วมกับทีมวิจัยและออกแบบของอีเลคโทรลักซ์ ซึ่งมีภารกิจในการเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน ตลอดจนผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงชั้นนำของโลก ที่ศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมของอีเลคโทรลักซ์ เพื่อสรรหาโซลูชั่นที่ลงตัวสำหรับการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น

โดยอีเลคโทรลักซ์จะนำข้อมูลเชิงลึกจากการสำรวจครั้งนี้ และจากการร่วมทำงานกับทีมผู้เปลี่ยนแปลงโลก มาใช้เพื่อมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไปในอนาคต

สำหรับในประเทศไทย คนรุ่นใหม่ ไม่เพียงมองว่าตนเองจะเติบโตเป็นผู้นำในอนาคตเท่านั้น แต่ 54% ยังเชื่อว่าตนเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านความยั่งยืนอย่างแข็งขัน และได้พยายามโน้มน้าวผู้อื่น ให้มีหันมาใช้ชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้นแล้วในปัจจุบัน

ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ หรือ 62% เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างจริงจังเพื่อโลกที่ดีขึ้น ในขณะที่เยาวชนไทย มีความเต็มใจทำในส่วนที่ทำได้แล้ว แต่กลับรู้สึกท้อแท้กับความล้มเหลวของคนรุ่นก่อน โดย 6 ใน 10 คนมีความเห็นว่าคนรุ่นใหม่ ต้องเข้ามาดูแลแก้ไขสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำพลาดไป และส่วนใหญ่ถึง 58% รู้สึกว่าเยาวชนได้พยายามส่งเสียงเรียกร้องแล้วแต่กลับไม่มีผู้ใหญ่รับฟัง

กุญแจสู่ความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น จากเสียงของคนไทยรุ่นใหม่ 

ผลการสำรวจพบว่า คนไทยรุ่นใหม่เห็นว่า การศึกษาเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืน (69%) และนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (67%) เป็นทางออกที่สำคัญที่สุด เพื่อเปลี่ยนไปสู่สังคมที่ยั่งยืนมากขึ้น

เมื่อพูดถึงบ้านในอนาคต คนรุ่นใหม่ให้ความใส่ใจกับการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในเรื่องอาหาร น้ำ และพลังงาน ซึ่งมีความสำคัญต่อพวกเขามากกว่าเทคโนโลยีอัจฉริยะในบ้านซึ่งไม่มีความยั่งยืนที่ชัดเจน

รัชตะ สุทธาพัฒน์ธานนท์ ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทย และอินเตอร์เนชั่นแนล มาร์เก็ต บริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “เยาวชนในปัจจุบัน มีความกระตือรือร้นอย่างมากเกี่ยวกับอนาคตของตน และการสำรวจครั้งนี้ของเราได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจมากมาย เกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน

คนรุ่นใหม่มีแรงบันดาลใจในการบริโภคอาหารออร์แกนิกหรืออาหารจากพืช (Plant-Based) ลดการซื้อเสื้อผ้าที่เป็น Fast Fashion และแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ หลังจากการเปิดตัวแคมเปญ Better Living in 2030 ทั่วโลกในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ขณะนี้ เราได้ตัวแทนเยาวชนที่สองคนจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลาง เพื่อมาร่วมทีมผู้เปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งจะทำงานร่วมกับผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงชั้นนำของโลก และทีมผู้เชี่ยวชาญของเรา ที่ศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรมของอีเลคโทรลักซ์ ในการเฟ้นหาโซลูชั่นเพื่อการใช้ชีวิตในอนาคต

ทั้งคู่ซึ่งเป็นตัวแทนจากออสเตรเลียและประเทศไทย จะเป็นแรงผลักดันที่แข็งแกร่ง ในการนำเสียงของคนรุ่นใหม่จากภูมิภาค APAC และ MEA มาสู่การสร้างสรรค์โซลูชั่นสำหรับบ้านในอนาคต ที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ และสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้จริง”

เกี่ยวกับเป้าหมายสำหรับปี 2030 (พ.ศ. 2573) ของอีเลคโทรลักซ์

การสำรวจครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของอีเลคโทรลักซ์ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายสำหรับปี 2030 (พ.ศ. 2573) ในการสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยั่งยืนยิ่งขึ้นให้กับผู้คนทั่วโลก โดยมุ่งเน้นแนวทางเพื่อการบริโภคอาหารที่ดีขึ้น การดูแลเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ดีขึ้น การสร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านที่ดีขึ้น และการเป็นบริษัทที่ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการส่งเสริมให้อีเลคโทรลักซ์สามารถนำโซลูชั่นมาช่วยรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ของโลกได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

ผลการสำรวจที่สำคัญในประเทศไทย

อนาคตของการบริโภคและประกอบอาหาร

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คนไทยรุ่นใหม่อยากทำที่บ้านในอนาคตคือ การผลิตอาหารขึ้นเอง (31%) ปรุงอาหารจากพืชให้มีรสชาติอร่อย (28%) และแปรสภาพเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยหรือรีไซเคิลเศษอาหารได้ทั้งหมด (27%) มีเพียง 16% เท่านั้นที่ต้องการบริโภคอาหารสำเร็จรูปแทนการปรุงอาหารกินเอง ขณะที่ 10% เชื่อว่า จะได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการ 9% เชื่อว่าจะได้บริโภคโปรตีนจากแมลง และมีเพียง 10% เท่านั้นที่เชื่อว่าตนจะไม่ต้องทำอาหารเลยในอนาคต

อนาคตของการใช้และดูแลเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม

สำหรับความเห็นเกี่ยวกับการใช้เสื้อผ้าอย่างยั่งยืนในอนาคต คนไทยรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับการดูแลและซ่อมแซมเสื้อผ้า พื่อให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น (67%) และลงทุนในเสื้อผ้าคุณภาพสูง (59%) ขณะที่ 43% เชื่อว่าตนจะสวมเสื้อผ้าเสมือนจริงภายในปี 2573 และ 36% เห็นว่าการเช่าเสื้อผ้า จะกลายเป็นพฤติกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ผู้คนนิยมกันภายในปี 2573

อนาคตของความเป็นอยู่อากาศที่ดีภายในบ้าน

เมื่อพูดถึงความเป็นอยู่และอากาศหายใจที่ดีภายในบ้านในอนาคต คนไทยรุ่นใหม่มองว่า ระบบอัจฉริยะในบ้านเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้คำแนะนำ และอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน และอยากได้ระบบที่สามารถให้คำแนะนำด้านสุขภาพ (29%) ให้คำแนะนำด้านการกินอาหาร (29%) บอกแนวทางและคำแนะนำเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน (28%) รวมถึงกิจวัตรการออกกำลังกาย (24%) นอกจากนั้น ยังเห็นว่าระบบเหล่านี้จะสามารถช่วยปกป้องคนจากมลภาวะสารพิษภายนอกบ้านได้ (34%)

เกี่ยวกับการสำรวจครั้งนี้

การสำรวจครั้งนี้จัดทำโดยบริษัทวิเคราะห์ United Minds ในนามของอีเลคโทรลักซ์ ประกอบด้วยการสำรวจเชิงปริมาณและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสำรวจเชิงปริมาณจัดทำขึ้นแบบออนไลน์ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-20 ปีใน 13 ประเทศ (อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล ชิลี ฝรั่งเศส เยอรมนี อิสราเอล โปแลนด์ สวีเดน ไทย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เวียดนาม)

โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 1,000 คนในแต่ละตลาด (ทั้งหมดรวม 13,886 คน) ผู้ตอบแบบสอบถาม ได้รับแบบสอบถามจาก CINT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทำแบบสำรวจ มีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก 17 ครั้งกับกลุ่มเยาวชนอายุ 15–20 ปี ในทั้ง 13 ประเทศ การเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจัดทำขึ้นระหว่าง 19 กุมภาพันธ์ – 16 มีนาคม 2564

สามารถอ่านผลการสำรวจฉบับเต็มได้ที่ https://www.betterlivingprogram.com/