Onlinenewstime.com : นับถอยหลังที่เด็กๆจะได้เริ่มไปโรงเรียนอีกครั้ง หลังจากอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ มาเป็นเวลาหลายเดือน กรมสุขภาพจิต จึงเสนอข้อแนะนำผู้ปกครอง ให้เตรียมพร้อมกับการเปิดเทอมของเด็กดังนี้
- กลับสู่กิจวัตร กิจกรรม โดยการจัดตารางเวลาเหมือนไปโรงเรียน ทั้งการกิน การนอน และการเรียนรู้
- เตรียมพร้อมให้เด็กรักษาสุขภาพอนามัยตนเอง ขณะไปโรงเรียน ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ และการเว้นระยะห่าง
- ผู้ปกครองต้องใช้เวลาพูดคุยสื่อสาร ทำความเข้าใจกับลูก ถึงชีวิตวิถีใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมรับการปรับตัว
สำหรับเด็กเล็กที่ยังไม่คุ้นชิน และไม่ยอมใส่หน้ากากอนามัย ควรทำอย่างไร
- ใส่ให้ดู เพราะเด็กวัย 1 ขวบสามารถเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ได้
- ใส่ให้พี่ตุ๊กตาตัวโปรด เพราะอาจดึงดูดความสนใจให้เด็กๆ อยากมีเพื่อนใส่หน้ากากอนามัยไปด้วยกัน
- เลือกขนาดให้พอดี มีลวดลายการ์ตูนที่เด็กชอบ เพื่อให้เหมาะกับเด็ก
- ให้รางวัลเมื่อหนูน้อยยอมสวมใส่หน้ากาก
- การเล่านิทานเป็นการตอบสนองจินตนาการของเด็ก นิทานเรื่องไวรัส จะทำให้พ่อแม่สามารถเล่าเรื่องราว เพื่อสร้างความเข้าใจ พร้อมกับให้เด็กปกป้องตัวเองตามเรื่องราวในนิทานได้
นอกจากนี้ ในด้านของการเตรียมตัวของหน่วยงานรัฐ สพฐ. ได้จับมือกรมสุขภาพจิตเปิดตัว แอปพลิเคชั่น “HERO” (Health And Educational Reintegrating Operation) เพื่อช่วยดูแลสุขภาพจิตเด็กนักเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนภายใต้สถานการณ์ COVID-19
โดยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน กรมสุขภาพจิต ได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “HERO” (Health And Educational Reintegrating Operation) โดยเป็นนวัตกรรม จากการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ ช่วยดูแลสุขภาพจิตเด็กนักเรียน ในช่วงเปิดภาคเรียนภายใต้สถานการณ์ COVID-19
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่เพียงเท่านั้น แต่เด็กและวัยรุ่น ที่ต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ไม่ได้ไปเรียน-เล่นตามวัย โดยเฉพาะหากพ่อแม่ผู้ปกครองมีความเครียด จะส่งผลต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กตามไปด้วย
ซึ่งการระบาดของ โควิด-19 ในหลายประเทศพบว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีสาเหตุจากการที่ต้องเก็บตัวอยู่บ้านกันเพิ่มขึ้น และกลุ่มเสี่ยงสำคัญคือเด็กและวัยรุ่น ซึ่งยัง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ทั้งหมด และมักแสดงออกเป็นปัญหาพฤติกรรม-อารมณ์-สังคม ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สามารถเรียน หรือใช้ชีวิตตามปกติได้
กรมสุขภาพจิตจึงได้ พัฒนาแอปพลิเคชั่น “HERO” (Health And Educational Reintegrating Operation) ขึ้น โดยการพัฒนาแอปพลิเคชั่น ได้รับการสนับสนุนจากคณะ วิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมจากยูนิเซฟ
แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เปิดเผยว่า สำหรับแอปพลิเคชั่น “HERO” (Health And Educational Reintegrating Operation) ได้ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น ผ่านคำถาม 9 ข้อง่ายๆ (9 symptoms หรือ 9S) คัดกรองอาการของเด็ก ได้แก่ ซนเกินไป ใจลอย รอคอยไม่ได้ หงุดหงิดง่าย ท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่อยากไปโรงเรียน ถูกเพื่อนแกล้ง แกล้งเพื่อน และไม่มีเพื่อน
ซึ่งจะทำให้เกิดการ “เฝ้าระวังคัดกรอง” ช่วยค้นหาเด็กได้เร็วขึ้น โดยไม่เพิ่มภาระครู เป็นการเฝ้าระวังปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ และส่งต่อทีมสาธารณสุขผ่าน แอปพลิเคชั่นได้ โดยทำการศึกษานำร่องระบบเฝ้าระวังใน 13 พื้นที่แล้วพบว่า ค้นหากลุ่มเสี่ยงพบประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับการคัดกรอง ที่จะพบกลุ่มเสี่ยง ประมาณร้อยละ 10
ไม่เพิ่มภาระให้กับคุณครู เมื่อครูติดตามดูแลแล้วยังไม่ดีขั้น สามารถขอคำปรึกษาจากบุคลากรสาธารณสุขในทุกอำเภอผ่านแอปพลิเคชั่น โดยทาง กรมสุขภาพจิตได้เตรียมความพร้อมทีมในแต่ละพื้นที่เพื่อเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตสำหรับคุณครู (HERO consultant)
ทำให้โรงเรียนและโรงพยาบาลทำงาน ร่วมกันได้ง่ายขึ้น เพื่อการดูแลสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของเด็กร่วมกัน โดยขณะนี้มี HERO consultant อยู่ในทุกเขตสุขภาพ และพร้อมขยายผลให้ครบทุกอำเภอ ภายในปีการศึกษานี้
นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า นอกจากภารกิจหลักของกระทรวงศึกษาธิการ คือ การจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริมและพัฒนานักเรียน ครอบคลุมทั้งทักษะวิชาการ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต เพื่อให้นักเรียนได้ค้นพบตนเอง และได้รับการพัฒนาตามความสนใจและความถนัดแล้ว
จากสถานการณ์ ในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 พบว่า มีการรายงานข้อมูลความต้องการการช่วยเหลือ ด้านสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนในช่วงวัยเรียน มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการทำงานร่วมกับกรมสุขภาพจิตในหลายมิติ ซึ่งแอปพลิเคชั่น “HERO” (Health And Educational Reintegrating Operation) นี้ ดำเนินการขึ้นมาเพื่อช่วยดูแลสุขภาพจิตของเด็กนักเรียนได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นในการสังเกต เฝ้าระวังและคัดกรองเด็กในชั้นเรียน
หน้าที่สำคัญของแอพพลิเคชั่น คือ การเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน ระหว่างคุณครูกับหมอ ซึ่งยังไม่จำเป็นต้องนำนักเรียนไปโรงพยาบาล ช่วยลดโอกาสเสี่ยง ต่อการสัมผัสเชื้อต่างๆ ประหยัด ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียน
โดยในปีการศึกษา 2563 นี้ สพฐ. ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชั่น HERO นี้ เพื่อลดภาระ คุณครูในการกรอกข้อมูล และประมวลผลภาพรวม เพื่อดูแลส่งเสริมสุขภาพจิตของนักเรียน โดยประวัติของนักเรียนทุกคนจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัยในระบบคลาวด์ เพื่อให้คุณครูได้ส่งต่อถึงทีมจิตแพทย์และ HERO consultant ครอบคลุมทั้งประเทศ
และในวันนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือ ระหว่างกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากการนำเสนอแอปพลิเคชั่น “HERO” ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ สพฐ. มีแผนการดำเนินงานสุขภาพจิตในโรงเรียนแบบบูรณาการ ควบคู่กับการ จัดกิจกรรมแนะแนวอีกด้วย
ในปีการศึกษา 2563 นี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์แนะแนวประจำจังหวัดและศูนย์แนะแนวประจำเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 260 ศูนย์ และมี นักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อช่วยกันดูแลส่งเสริมให้นักเรียน มีสุขภาพจิตที่ดีอันเป็นพื้นฐานสำคัญการเรียนรู้ ที่จะเป็นการต้อนรับการกลับมาเปิดเทอมให้กับนักเรียนแบบ “Back to HEALTHY School” เพื่อดูแลนักเรียนให้มีสุขภาพที่ดี ทั้งร่างกายและจิตใจ ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 เพราะถึงการใช้ชีวิต จะต้องเปลี่ยนไป แต่การส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กไทยต้องแข็งแรง
Source : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข