fbpx
News update

เปรียบเทียบสถิติ “อ่างเก็บน้ำ” ปี 2554 กับ 2564 พบปริมาณน้ำใกล้เคียงและแตะสูงกว่าถึง 4 แห่ง

Onlinenewstime.com : ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ หลังได้รับผลกระทบจากพายุ “เตี้ยนหมู่” ตั้งแต่ 23 กันยายน 2564 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน พบปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ต้องจับตาและเฝ้าระวังสูงสุด

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2564 มีแหล่งน้ำ 156 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำมากกว่า 95% แบ่งเป็นภาคเหนือ 31 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 78 แห่ง ภาคตะวันออก 33 แห่ง ภาคตะวันตก 6 แห่ง ภาคกลาง 3 แห่ง และภาคใต้ 5 แห่ง

ที่อยู่ในข่ายต้องติดตาม และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด คือ ปริมาณน้ำของ “แหล่งน้ำขนาดใหญ่” พบว่ามีปริมาณมากกว่า URC คือ เกณฑ์เก็บกักน้ำสูงสุด! จำนวนถึง 16 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 4 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แห่ง

“เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ นิวส์ไทม์” นำข้อมูลปริมาตรน้ำเก็บกักทั้ง 15 อ่างเก็บน้ำ ของเดือนตุลาคมปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยนำมาเปรียบเทียบ ข้อมูลปริมาตรน้ำเก็บกัก จากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) ในวันที่ 10 ตุลาคม 2564 พบว่า ปริมาตรน้ำเก็บกัก ในรอบ 10 ปีนั้น มีทั้งที่ใกล้เคียงกัน และเกินกว่าปริมาณน้ำในปี 2554

4 อ่างเก็บน้ำภาคเหนือ ที่ต้องติตตามอย่างใกล้ชิด

จากรายงานสถานการณ์น้ำประจำวัน สทนช. ระบุว่า มี 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคเหนือ ที่จะต้องติตตามอย่างใกล้ชิด นั่นคือ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จังหวัดลำปาง อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี

เมื่อเปรียบเทียบสถิติปี 2554 กับ 2564 ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคเหนือ พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี เหลืออีกเพียง 3.07% จะเทียบเท่าปี 2554 ตามมาด้วยปริมาณน้ำ “เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน” จังหวัดพิษณุโลก ในปีนี้เหลืออีกเพียง 4.35 % จะเทียบเท่ากับปี 2554 ซึ่งแตะไปถึงตัวเลขของความจุในแต่ละแห่ง

7 อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ต้องติตตามอย่างใกล้ชิด

สำหรับ “อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่” ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเปรียบเทียบระดับน้ำ ปี 2554 กับ 2564 พบว่า เขื่อนลำพระเพลิง  จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำ “มากกว่าปี 2554” อยู่ที่ 20.91%

ตามมาด้วยเขื่อนลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์นั้น มีปริมาณน้ำเทียบเท่ากับปี 2554

ขณะที่ ปริมาณน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เหลืออีกเพียง 8.88% จะเท่ากับสถิติในปี 2554

ส่วนอ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมานั้น มีอ่างเก็บน้ำมูลบน เหลืออีก 12.90% ลำแซะเหลืออีก 19.54% ลำตะคอง เหลืออีก 22.10% และเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น 19.28% จะเท่าปี 2554 (อ่างเก็บน้ำลำนางรอง ไม่มีข้อมูล)     

2 อ่างเก็บน้ำของภาคกลาง ที่ต้องติตตามอย่างใกล้ชิด

ปริมาณน้ำในเขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี มีปริมาณที่มากกว่าปี 2554 อยู่ที่ 11.67% ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  จังหวัดลพบุรี เหลืออีก  15.38 % จะเท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อนปี 2554

3 เขื่อนในภาคตะวันออก ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออก มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 95% คือ เขื่อนนฤบดินทรจินดา และเมื่อเปรียบเทียบปี 2564 และ 2554 พบว่า เขื่อนหนองปลาไหล จังหวัดระยอง มีปริมาณน้ำมากกว่า 8.38% และเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก มากกว่า 0.46%

ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และคาดหวังประสิทธิผลสูงสุดของการบริหารจัดการน้ำจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอิทธิพลของพายุอีก 2 ลูก ได้แก่พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” ที่เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคมนี้ และพายุโซนร้อน “คมปาซุ” ซึ่งยังไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยในระยะนี้ โดย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นผ่าน เฟสบุ้ค รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ถึงสถานการณ์ในขณะนี้ว่า สัปดาห์นี้ทั้งสัปดาห์ จะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่