fbpx
News update

เปิดงานวิจัยพบหลังยุติกิจการเหมืองพบสารหนูในเด็กลดลง

www.onlinenewstime.com : จากกรณีเมื่อปี 2558 ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัดรอบๆการประกอบกิจการเหมืองทอง ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ต่อมาได้ทำการตรวจพบสารหนูในร่างกายของเด็กและผู้ใหญ่ในปริมาณสูง

ส่งผลให้ในปี 2559 คณะรัฐบาลมีมติ ให้ยุติการประกอบกิจการเหมืองทอง และให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การดูแลสุขภาพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ โดยได้มีการประเมินภาวะสารหนู ระดับสติปัญญาหรือไอคิว และภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ในเด็กนักเรียน ประถมศึกษาปีที่ 4-6 ของ 6 โรงเรียนในพื้นที่รอบๆเหมือง

พบว่า ร้อยละ 35.6 (73 คน ใน 205 คน) มีสารหนูในร่างกายสูงกว่าปกติ ร้อยละ 38.4 (83 คน ใน 216 คน)  มีไอคิวต่ำกว่า 90 ในเด็กที่ไอคิวมากกว่า หรือเท่ากับ 90 มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ร้อยละ 40.6 (86 ใน 212 คน) ซึ่งการศึกษาในต่างประเทศพบว่า เด็กเมื่อได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกาย จะส่งผลให้มีไอคิวต่ำลง ในเด็กที่ไอคิวปกติ ยังพบว่าสารหนูมีผลต่อสมองก่อให้เกิดความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้

ต่อมาในเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมานี้ หรือกว่า 3 ปีให้หลังจากการตรวจประเมินรอบแรก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้สนับสนุนโครงการวิจัย เพื่อติดตามผลกระทบจากสารอาร์เซนิก (สารหนู) แมงกานิส ไซยาไนด์ และฟื้นฟูภาวะบกพร่องทางสติปัญญา กระบวนการรู้คิด และการเรียนรู้ในเด็ก ป.4-6 โดยมีทีมวิจัยจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการประเมินระดับสารหนูในเด็ก ป.4-6 ไอคิวและความบกพร่องทางการเรียนรู้อีกครั้งพื้นที่เดิมพบว่า

สัดส่วนของการมีสารหนูสูงกว่าปกติในร่างกายของกลุ่มเด็กนักเรียน ป.4-6 ของ 6 โรงเรียนเดิม ลดลงจาก 35.6 เหลือร้อยละ 4.5 (9 คน ใน 199 คน) หรือลดลง 12 เท่าตัว ลดลงมากทุกโรงเรียน ทุกชั้นปี และทุกเพศ ขณะที่เด็กที่มีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ปกติพบ ร้อยละ 40.6 (86 คน ใน 212 คน) ไม่แตกต่างจากเดิม แต่เด็กที่ไอคิวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ลดลง จากร้อยละ 40.6 เป็นร้อยละ 22.22 (28 คน ใน 126 คน)

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เราได้รับข้อมูลว่าสารหนูอยู่ในดินชั้นลึกของบริเวณละแวกนี้มานานแล้ว แต่ 3 ปีก่อนที่เราพบสารหนู ในร่างกายเด็กๆ เราไม่รู้แน่ชัดว่า สารหนูที่สูงในเด็กมาจากการประกอบการใด ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจนสารหนูสามารถเข้าสู่ตัวเด็กๆ  หรือจริงๆแล้วเป็นสิ่งที่อยู่ในร่างกายเด็กๆ ทุกรุ่นทุกสมัยอยู่แล้ว

แต่วันนี้เราพบว่าความเสี่ยงต่อการได้รับสารหนู ในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกายลดลงกว่า 12 เท่าตัว ภายในสามปี หลังจากมีการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เปลี่ยนแปลง วอนทุกฝ่ายมีความตระหนัก หากจะให้มีการประกอบการใด ที่อาจทำให้สิ่งแวดล้อมกลับมาที่จุดเดิม ขอให้โปรดทำการประเมินให้ถ้วนถี่ ว่าการประกอบการนั้น จะไม่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารหนูในเด็กๆกลับมาอีก

ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า เราทราบกันดีว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายหลายเรื่อง เรื่องที่สำคัญที่สุดแต่ยังมีการพูดกันน้อย คือ เด็กไทยเกิดน้อยลง และที่เกิดมาแล้ว ก็ยังเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆที่ส่งผลต่อการพัฒนาสติปัญญา การเรียนรู้ และการเติบโตตามวัยที่สมส่วน

คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ จะเห็นว่ามีเด็กไทยจำนวนหนึ่ง ก้าวขึ้นแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ได้รางวัลมากมายในแต่ละปี ขณะที่เด็กอีกจำนวนมากเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตั้งแต่ขาดการดูแล และพัฒนาอย่างเหมาะสม หรือได้รับการดูแลและพัฒนาแบบอย่างไม่เหมาะสม เช่น ตามใจมากเกินไป จนเด็กเติบโตขึ้นมาแล้ว ขาดความอดทน ขาดวินัยในการดูแลจัดการตนเอง

หรือมีเด็กอีกกลุ่มที่เติบโตขึ้นมา ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม แผนงานวิจัยเพื่อการพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น ของ สวรส. ต้องการสนับสนุนการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบและนโยบายเพื่อการป้องกันความเสี่ยง การพัฒนามาตรการต่างๆ และนโยบายที่ส่งเสริม และพัฒนาให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ ไม่ต้องการให้เด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องถูกทอดทิ้ง No one left behind และเติบโตขึ้นมา จนกลายเป็นประชากรที่เป็นปัญหาของสังคม

ทพ.จเร กล่าวต่อไปว่า เราต่างก็มักจะชี้นิ้วด่าว่า กลุ่มเด็กและวัยรุ่นเหล่านี้ แต่ทุกคนต้องกลับมาตั้งคำถามว่า อะไรคือเหตุที่ทำให้เราได้ประชากรแบบนี้ขึ้นมาในสังคม การกล่าวโทษไม่ใช่ทางแก้ ทางแก้ต้องมองย้อนกลับขึ้นไปว่า เกิดอะไรขึ้นกับเขาตั้งแต่เกิดจนเติบโตขึ้นมา และหามาตรการต่างๆป้องกัน ตลอดจนให้การรักษา ฟื้นฟู

หากเกิดปัญหาขึ้นแล้ว สวรส. ไม่ได้ต้องการแค่สนับสนุนการวิจัย แต่ต้องการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐ เอกชน สื่อมวลชน หันมาสนใจประเด็นการพัฒนาเด็กให้มากขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่กำลังถูกทอดทิ้ง ให้ความสนใจเด็กและครอบครัว ที่ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว

สุดท้ายการศึกษานี้เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า การวิจัยจะช่วยชี้ให้เห็นว่า เกิดอะไรขึ้นกับเด็ก กลุ่มที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง สถานการณ์ขณะนี้ดีขึ้นหรือแย่ลง มีอะไรที่สะท้อนช่องทาง ที่จะนำไปสู่มาตรการและนโยบายเพื่อการป้องกัน แก้ปัญหา

ขณะเดียวกันทุกฝ่าย ต้องหยิบเอาบทเรียนจากการศึกษานี้ ไปลองส่องดูว่ายังมีเด็กกลุ่มไหน ครอบครัวใดบ้างที่เราหลงลืม และควรจะนำขึ้นมาพูดคุย ให้สังคมสนใจมากกว่าความสนใจในเรื่องใกล้ตัว หรือเพื่อความบันเทิง