Onlinenewstime.com : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โชว์ 79 บรรจุภัณฑ์ดีเด่นเพื่อความยั่งยืน พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เข้าประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับเอเชีย (AsiaStar Awards 2020) และระดับโลก (WorldStar Awards) ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศกว่า 60 ล้านบาท พร้อมแนะ 4 เทรนด์ ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้อนรับปี 2021 กินได้ – สร้างสรรค์ – ไบโอ – รีไซเคิล จัดทัพ Thai-IDC และ ITC4.0 พร้อมทั้ง ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม ตามนโยบายของรัฐบาล ด้วยการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาต้นแบบบรรจุภัณฑ์ ให้เป็นที่ยอมรับสู่มาตรฐานระดับสากล รวมถึงสร้างความยั่งยืนบนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
จึงได้จัดประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2563 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 48 ภายใต้งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิต การแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ แห่งภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 28 หรืองาน ProPak Asia 2020
เพื่อให้เกิดความตื่นตัว และการแข่งขันในวงการบรรจุภัณฑ์ไทย เพื่อเฟ้นหาบรรจุภัณฑ์ดีเด่น ที่จะเป็นตัวแทนของประเทศไทย ในการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
โดยมีผู้ได้รับรางวัลบรรจุภัณฑ์ยอดเยี่ยมทั้งสิ้น 79 บรรจุภัณฑ์ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่า และคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น รวมถึงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนกว่า 60 ล้านบาท
สำหรับการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2563 เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นักออกแบบอิสระ และนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งแบ่งออกเป็น 9 ประเภท
ประกอบด้วย ต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสำหรับสินค้าทั่วไป การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสำหรับสินค้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสำหรับสินค้าทั่วไป
ต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสำหรับสินค้าทั่วไป บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสำหรับสินค้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับสินค้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด
วัสดุบรรจุภัณฑ์และองค์ประกอบสำหรับสินค้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ต้นแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ สำหรับสินค้ายังไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด
นอกจากนี้รางวัลพิเศษ จากสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย (TPA) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) สถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (GS1 Thailand) และ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (TIPMSE)
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษคะแนนรวมสูงสุด President Awards ซึ่งมีผู้รับรางวัลคือ บรรจุภัณฑ์ขนมไหว้พระจันทร์ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ออกแบบโดย นางสาวธารทิพย์ บ่อเพ็ชร์ โดยบรรจุภัณฑ์ที่ได้รางวัลในทุกประเภท จะเป็นตัวแทนประเทศไทย ในการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับเอเชีย (AsiaStar Awards 2020) และระดับโลก (WorldStar Awards)
นายณัฐพล กล่าวต่อว่า ภาพรวมมูลค่าการส่งออกบรรจุภัณฑ์ไทยจากสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาส 2/2563 มีมูลค่า 14,253 ล้านบาท มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา ร้อยละ 2.64
ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาของระบบขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงสถานการณ์การปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทว่า ยังมีโอกาสเติบโต หรือปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยังมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากภาคอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ปรับรูปแบบการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความสอดคล้อง กับความต้องการของผู้บริโภค ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ่น
โดยแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค หรือ เทรนด์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในปี 2021 ที่คาดว่าจะได้รับความนิยม ประกอบด้วย
บรรจุภัณฑ์กินได้ เนื่องจากผู้บริโภค ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม หากบรรจุภัณฑ์สามารถรับประทานได้ ก็จะเป็นส่วนช่วยให้ปริมาณขยะในประเทศลดลง
บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์ ผ่านพัฒนา ให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเป็นตัวแทนที่ สามารถสื่อสารแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ได้อย่างชัดเจน
บรรจุภัณฑ์ไบโอ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ และสามารถย่อยสลายได้เอง ซึ่งถือเป็นการลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะจากการใช้พลาสติกอีกด้วย
บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล เป็นบรรจุภัณฑ์ที่เกิดจากการนำขยะมารีไซเคิล ทั้งขยะพลาสติก โลหะ ขยะอีคอมเมิร์ซ เป็นจำนวนมาก อาทิ กระดาษจากกล่องบรรจุสินค้าออนไลน์ และ กล่องไปรษณีย์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขยะประเภทกระดาษมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) พร้อมสนับสนุนในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ทั้งในด้านการออกแบบ ซึ่งมี ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Thailand Industrial Design Center: Thai-IDC) ที่พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำหรับให้คำแนะนำเชิงลึกกับผู้ประกอบการโดยตรง
รวมถึงศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือ ศูนย์ ITC 4.0 ที่พร้อมส่งเสริมด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค หรือ เทรนด์ปัจจุบันและในอนาคต นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรค์ (Thai-IDC) โทรศัพท์ 0 2367 8021 หรือ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4502 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook และ เว็บไซต์