fbpx
News update

เมื่อ AI สวมบทบาทเป็นผู้สัมภาษณ์งานครั้งแรกที่อังกฤษ

www.onlinenewstime.com : กระแสการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรม ที่ในวันนี้เริ่มขยับขยายนำมาใช้ในสายงานทรัพยากรบุคคลแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีการแสดงออกทางสีหน้า ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก เพื่อเฟ้นหาผู้สมัครที่ดีที่สุดในการสัมภาษณ์งานที่ประเทศอังกฤษ

ที่ผ่านมี ตัวอย่างของบริษัทหลายๆแห่งที่ นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในขั้นตอนการคัดตัวพนักงานเข้ามาทำงาน เช่นเดียวกับ ยูนิลีเวอร์ ยักษ์ใหญ่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค นับว่าเป็น 1 ในบริษัทที่ใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยในการสัมภาษณ์งาน โดยเฉพาะในการวิเคราะห์ภาษา น้ำเสียง และการแสดงออกทางสีหน้าของผู้สมัครเมื่อได้รับคำถาม ซึ่งบริษัททำการถ่ายคลิประหว่างการสัมภาษณ์เอาไว้ด้วย

ในการทำงานของอัลกอริทึม และวิธีการคัดเลือกผู้สมัครที่ดีที่สุดนั้น ใช้หลักการประเมินการแสดงออกของคนๆนั้นในวิดีโอ โดยนำมาเทียบกับข้อมูลใบหน้า และภาษาประมาณ 25,000 ข้อมูล ซึ่งรวบรวมจากการสัมภาษณ์เดิม ของผู้ที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าทำงานได้ดี

Hirevue เป็นแพลตฟอร์มการสัมภาษณ์ ด้วยระบบวิดีโอออนไลน์ของบริษัทในสหรัฐอเมริกา ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีการสัมภาษณ์ขึ้นมา โดยมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ ช่วยให้บริษัทที่ต้องการว่าจ้างพนักงานนั้น สามารถสัมภาษณ์ผู้สมัครได้มากขึ้น จากเดิมที่พึ่งพาประวัติ และข้อมูลจากเรซูเม่เท่านั้น ซึ่ง AI จะสามารถให้ข้อบ่งชี้ที่เชื่อถือได้มากขึ้น โดยเฉพาะข้อดีที่ว่า AI ปราศจากความรู้สึก และอคติเหมือนการตัดสินใจของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการและนักรณรงค์ ต่างออกมาเตือนว่า AI หรือเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าใด ๆ ก็ยังมีอคติที่สร้างขึ้นในฐานข้อมูล และนำมาแยกแยะกลุ่มคน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังจะตัดผู้สมัครที่มีความสามารถ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานออกไปอย่างน่าเสียดาย

ในมุมมองของนักวิชาการ ที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยพร้อมแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ Anna Cox ศาสตราจารย์ด้าน Human-Computer Interaction จาก UCL ให้ความเห็นว่า “AI จะช่วยเฉพาะคนที่เก่งในการให้สัมภาษณ์ทางวิดีโอ ซึ่งชุดข้อมูลในโปรแกรมอาจมีจุดอ่อน ที่เป็นอคติ ทำให้คนที่เก่งในการทำงานจริงๆถูกคัดออก”

แม้ว่าจะมีข้อกังขาถึงความเที่ยงตรงของการสัมภาษณ์ในรูปแบบนี้ก็ตาม ทว่า Hirevue ออกมาเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้ใช้เทคโนโลยีนี้ ในการสัมภาษณ์กว่า 1แสนครั้งในประเทศอังกฤษ และกว่า 1 ล้านครั้งทั่วโลก โดยมีการประเมินการจ้างงานล่วงหน้ากว่า 150,000 ครั้งในทุก 90 วัน 

Loren Larsen  CTO (Chief Transformation Officer) ของ Hirevue ให้สัมภาษณ์กับ The Daily Telegraph ว่าตัวเลขประมาณ 80 – 90% ของการประเมินนั้น ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์อัลกอริทึมของการใช้ภาษาและทักษะการพูดของผู้สมัคร

“มีกว่า 350 คุณสมบัติ ที่เรามองในการใช้ภาษา เช่น : ผู้สมัครใช้คำที่แสดงตัวตนอย่างไร เวลาอธิบายเรื่องของตัวเองใช้คำว่า “ฉัน” หรือ “เรา” ผู้สมัครเลือกคำ หรือพูดประโยคยาวแค่ไหน ยกตัวอย่างในอาชีพแพทย์  เราน่าจะคาดหวังว่าคนที่เหมาะสม จะใช้ภาษาทางเทคนิคให้มากที่สุด

จากนั้นจะดูที่น้ำเสียง เช่น ถ้าผู้สมัครพูดช้ามากๆ อาจไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นคนขายสินค้า หรือคนที่พูดด้วยความเร็ว 400 คำต่อนาที คนฟังอาจจะไม่เข้าใจสิ่งที่พูด เพราะฟังไม่ทัน รวมถึงการมีความใส่ใจในน้ำเสียง ก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวเลือก”

Hirevue  ให้ข้อมูลว่าเทคโนโลยีนี้ แตกต่างจากเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าอย่างเดียว แต่ยังมีการวิเคราะห์การแสดงออกทางใบหน้า ซึ่งประเมินโดยอัลกอริธึม เช่น การขมวดคิ้วหรือเลิกคิ้ว, การเบิกตาหรือหรี่ตา, การเหยียดริมฝีปาก, การยกคาง และการยิ้ม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในงานขาย หรืองานที่ต้องใช้ภาพลักษณ์กับสาธารณะ”

Cr. Pixabay

Dr. Nathan Mondragon Chief IO Psychologist ของ Hirevue กล่าวว่า “การแสดงออกทางสีหน้า บ่งบอกอารมณ์ความรู้สึก พฤติกรรมและลักษณะทางบุคลิกภาพบางอย่าง เราได้รับข้อมูลกว่า 25,000 ชุด จากวิดีโอ 15 นาทีต่อ 1 ผู้สมัคร ข้อมูลเสียง และวิดีโอ จะถูกนำมารวมกัน เพื่อให้การวิเคราะห์ที่ชัดเจน ว่ามีการตอบสนองทางอารมณ์ และความรู้สึกอย่างไร”

ผู้สมัครจะได้รับการจัดอันดับ จาก 1 ถึง 100 เทียบกับฐานข้อมูลของผู้สมัครที่ประสบความสำเร็จก่อนหน้านี้ โดยใช้เวลาในการดำเนินการน้อยกว่าสัปดาห์

Griff Ferris เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและนโยบายของ Big Brother Watch กล่าวว่า “การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ ในการสัมภาษณ์นับหมื่นครั้งนั้น ส่งผลกระทบต่อผู้สมัครงานอย่างมาก

อัลกอริทึมนี้ จะพยายามจดจำและวัดความซับซ้อนของ การพูดของมนุษย์ ภาษากาย และการแสดงออก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้สมัครที่ไม่เป็นทางการ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับหลายๆ ระบบ มีโอกาสสูงมาก ที่การประมวลผล จะลำเอียงในบางด้าน ส่งผลให้ผู้สมัครที่มีภูมิหลังบางอย่าง ถูกกีดกันและแยกแยะอย่างไม่ยุติธรรม”

Cr. www.telegraph.co.uk