onlinenewstime.com : เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับสงกรานต์ปีนี้ ที่แสงแดดเปรี้ยงกว่าทุกปี เพื่อให้สนุกเต็มที่ และพร้อมกลับไปทำงานอย่างแข็งแรง
สำหรับผู้ที่เตรียมออกไปเล่นน้ำ หรือท่องเที่ยวในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ อย่าลืมอ่านข้อมูลพึงระวังสำหรับการออกกลางแจ้ง ที่แสงแดดจัดเป็นเวลานาน โดยแพทย์ได้เตือนถึงผลกระทบและการเตรียมตัวเอาไว้ว่า
แสงแดดจ้า อากาศร้อน และมลภาวะ เป็นปัจจัยกระตุ้นที่ให้เกิดโรคผิวหนังได้ง่าย โดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเลต ที่มาจากดวงอาทิตย์ นอกจากทำอันตรายต่อผิวหนัง ยังเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง ซึ่งมะเร็งชนิดนี้ พบเพียง 5% ของมะเร็งทั้งหมด และพบมากในเพศชายมากกว่าหญิง ในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
โดยครีมกันแดดนั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด หรือเป็นคำตอบสุดท้ายในการป้องกัน โรคมะเร็งผิวหนัง เพราะแสงยูวียังสามารถผ่านผิวหนังของเราได้ วิธีที่จะปกป้องผิวจากแสงแดดให้ได้มากที่สุด จึงต้องปฏิบัติตัวหลายอย่างไปพร้อมกันคือ
- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะระหว่างเวลา 10.00 – 16.00 น. เพราะเป็นช่วงที่อันตรายที่สุด เพราะรังสียูวี 80% จะส่องลงมาในช่วงเวลาดังกล่าว และสามารถสะท้อนแสง เมื่อกระทบผิวน้ำ พื้นถนน ทราย ป้ายโฆษณา แม้แต่ตัวอาคาร
- พยายามหลบแสงแดดให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้
- สวมหมวกปีกกว้าง หรือกางร่ม เมื่อต้องเจอแสงแดด หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- สวมเสื้อผ้าให้ปิดผิวมิดชิด มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เสื้อผ้าที่ทอเนื้อแน่นสีเข้ม จะกันแดดได้มากกว่า เสื้อผ้าเนื้อบาง
- ทาครีมกันแดดในบริเวณผิวหนัง ที่ไม่สามารถป้องกันด้วยเสื้อผ้าได้ เช่น บริเวณใบหน้า หรือหลังมือ แต่ต้องเข้าใจว่าครีมกันแดด ป้องกันได้เพียงแสงยูวี ไม่สามารถป้องกันแสงที่ให้ความสว่าง หรือความร้อนจากแดดได้ ซึ่งหากได้รับในปริมาณมาก ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังเช่นกัน และแสงที่จ้ามาก จะทำร้ายให้ผิวไหม้ได้เกินกว่าปกติ
นอกจากการหลีกเลี่ยงแสงแดด การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผัก และผลไม้ จะช่วยป้องกันอันตรายของแสงแดด ที่มาทำร้ายผิวได้เช่นกัน เช่น มะเขือเทศ ที่มีสารไลโคปิน แครอท ที่มีสารเบต้าแคโรทีนและกรดโฟลิก จะช่วยปกป้องผิวจากรังสี UV ได้ และการดื่มน้ำเปล่าอย่างสม่ำเสมอวันละ 8 แก้ว จะช่วยให้เซลล์ผิวหนังทำงานได้ปกติ ลดการสูญเสียน้ำในร่างกาย ทำให้ผิวชุ่มชื่น และมีสุขภาพที่ดี
ไม่เพียงแค่ความเสี่ยงของผิวหนังจากความร้อน และแสงแดด อากาศที่ร้อนแรง ยังส่งผลต่อร่างกาย จนเกิด ภาวะเพลียแดด ลมแดดได้อีกด้วย ซึ่งภาวะเพลียแดด ลมแดด เป็นการเจ็บป่วย เนื่องจาก ร่างกาย ไม่สามารถปรับตัวกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด
โดยปกติแล้วร่างกายของเรามีอุณหภูมิ ประมาณ 36-37 องศาเซลเซียส แต่ในภาวะเพลียแดด ร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังไม่ถึง 40 องศา ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเพลียแดด และจะมาพร้อมกับอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง แต่ยังรู้สติดีอยู่
ส่วนโรคลมแดดเป็นภาวะ การเจ็บป่วยจากความร้อนที่รุนแรงที่สุด โดยมีอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศา ร่วมกับมีอาการทางสมอง เช่น หมดสติ พูดจาสับสน หรือชัก และหากไม่ได้รับ การรักษาที่ทันท่วงที สามารถทำให้เกิดตับ และไตวายหรือเสียชีวิตได้
ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ กับทุกคนที่ถูกแดดจัด หรืออยู่ในที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเพลียแดด ลมแดด ได้ง่าย คือกลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความร้อนได้ไม่ดี เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ติดเหล้า หรือผู้ที่รับประทานยาเฉพาะบางชนิด เช่น ยาเสริมธัยรอยด์ ยาแก้แพ้ ยาทางจิตเวช อีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงคือ นักกีฬาที่เล่นกีฬา ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด เพราะมีความร้อนจากภายในร่างกาย ที่ผลิตจากกล้ามเนื้อระหว่างการออกกำลังกายด้วย
วิธีการปฐมพยาบาล สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการลดระดับความร้อนของร่างกายให้เร็วที่สุด นำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเท คลายหรือถอดเสื้อผ้าตามความเหมาะสม จัดผู้ป่วยให้นอนราบ ยกขาสูง อาจหาพัดลมเป่าตัวผู้ป่วย ใช้การเช็ดตัว หรือประคบเย็น ในส่วนคอ ลำตัว แขนขา และข้อพับ สำหรับผู้ป่วยที่ยังรู้ตัว อาจให้ดื่มน้ำเย็นได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วย จะมีอาการดีขึ้นเมื่ออุณหภูมิลดลง แต่ถ้าผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัว สับสน หรือชัก ให้ขอความช่วยเหลือ และนำส่งโรงพยาบาลทันที
การหลั่งเหงื่อ เป็นกลไกการลดความร้อนของร่างกายที่สำคัญที่สุด การดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละประมาณ 2-3 ลิตร เป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่ช่วยป้องกันการขาดน้ำ ในภาวะที่มีการเสียเหงื่อมาก เช่น การออกกำลังกายต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชย แต่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของชา กาแฟ จะยิ่งทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น
สำหรับนักกีฬาที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย ในสภาพอากาศร้อนจัด อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงการอยู่ในกลุ่มคนจำนวนมาก เพราะจะได้รับความร้อนที่กระจายจากคนอื่น และมีการถ่ายเทอากาศที่ไม่ดี ควรดื่มน้ำบ่อยๆ ไม่ควรรอจนรู้สึกกระหาย และไม่ควรเล่นกีฬาในขณะที่เป็นไข้
Credit – สสส. และ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข