fbpx
News update

แพทย์ชนบทร่วมใจ ส่ง 13 ทีม สนับสนุนการควบคุมโรคพื้นที่ชายขอบกทม.

Onlinenewstime.com : แพทย์ชนบทร่วมใจจัดบุคลากรการแพทย์ 13 ทีม ลงพื้นที่ชุมชนสนับสนุน กทม. ปิดช่องว่างการเข้าถึงระบบบริการ ใช้กลยุทธ์ Ring Vaccination ตรวจเชื้อ ฉีดวัคซีน ให้กลุ่มเสี่ยง เพื่อให้ทันท่วงทีในการควบคุมโรคในพื้นที่

นายแพทย์สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินี ณ อำเภอนาทวี จ.สงขลา ให้สัมภาษณ์ ในนามชมรมแพทย์ชนบท ว่า บุคลากรทางการแพทย์จากทั่วประเทศร่วมใจจัด 13 ทีม ลงชุมชนสนับสนุนการทำงานควบคุมโรคในพื้นที่กทม.

โดยเฉพาะในจุดที่มีการตรวจเชื้อได้น้อย หรือมีความเสี่ยงสูงส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รอยต่อของ กทม. อาทิ เขตมีนบุรี บางขุนเทียน หนองจอก ตลิ่งชัน เป็นต้น ซึ่งทางสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ได้จัดลำดับและเลือกพื้นที่ไว้ให้ โดยใช้กลยุทธ์  Ring Vaccination คือ การลงชุมชนจัดการกลุ่มเสี่ยงทำการตรวจเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อส่วนกลุ่ม ที่มีความเสี่ยงต่ำ จะจัดการให้วัคซีนเพื่อความครอบคลุมในช่วงสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดเพื่อให้ทันการ โดยทั้ง 13 ทีมตั้งเป้าตรวจเชื้อ 10,000 คนต่อวัน

นายแพทย์สุวัฒน์กล่าวต่อว่า ในวันนี้ทีม จ.สงขลา จากโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินี ณ อำเภอนาทวี  สะเดา ประดังเบซาร์ นำบุคลากรรวม 12 คน แบ่งเป็น 2 ทีม ที่ชุมชนสุเหร่าใหม่ และชุมชนสุเหร่าลำแขก ลงปฏิบัติหน้าที่ในเขตหนองจอก

โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับศูนย์อนามัยที่ 44 หนองจอก และการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้นำชุมชน ในคัดแยกประชากรในพื้นที่ตามความเสี่ยง

แต่ละจุดแบ่งการทำงาน เป็น 2 ส่วน คือ ฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ มีศูนย์อนามัยเป็นผู้ดำเนินการ และการค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน ตรวจด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit ดำเนินการโดยทีมสาธารณสุข ทราบผลภายใน 15 นาที

หากพบว่าติดเชื้อจะมีการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำทันทีเพื่อยืนยันผล และให้ตามคนในครอบครัวทุกคนมาตรวจหาเชื้อทันที เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จะได้ไม่เสียเวลาในการค้นหาจุดตรวจอื่นๆ และควบคุมโรคได้ง่าย

ส่วนการส่งต่อผู้ติดเชื้อ จะส่งต่อให้กับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. บริหารจัดการตามระบบไม่ว่าจะเป็น Community isolations, Home Isolation ในชุมชนที่มีความพร้อม หรือเข้ารักษายังโรงพยาบาล และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่ามีคนดูแล คาดว่าระบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาและปิดช่องว่างการเข้าถึงระบบบริการ

“พวกเรามาจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ นำประสบการณ์ที่เคยใช้ในภูมิภาค ช่วยเติมเต็มจุดที่เป็นคอขวดของ กทม. เนื่องจากมีประชากรที่เยอะมาก แม้ในพื้นที่ของพวกเรายังเป็นพื้นที่สีแดง แต่สถานการณ์ใน กทม. หนักกว่า จึงมาช่วยกัน เพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

มั่นใจว่าเรายังมีแสงสว่างอยู่ที่ปลายอุโมงค์ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทุกคนต้องดูแลสุขภาพของตัวเอง และเมื่อใดที่มีปัญหาต้องการคำปรึกษา บุคลากรสาธารณสุขพร้อมดูแล” นายแพทย์สุวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ 13 ทีม ได้กระจายลงพื้นที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ กทม. เฉพาะทีม จ.สงขลา ตั้งเป้าตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit ในเขตมีนบุรี หนองจอกประมาณ 2,000 คน ในช่วงเช้าที่ผ่านมาได้ทำการตรวจแล้ว2 ชุมชน ประมาณ 400 คน ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อ 21 คน และในช่วงบ่ายลงพื้นที่ชุมชนสุเหร่าใหม่ คาดว่ามีประมาณ 500 คน และชุมชนโรงเรียนสุเหร่าลำแขก 500 คน