Onlinenewstime.com : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยสรรพคุณของกล้วยตามมุมมองด้านภูมิปัญญาไทย ชี้ประโยชน์ของกล้วย ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูโรค แบบภูมิปัญญาไทย เป็นวิธีที่ประหยัด และเกิดประโยชน์สูง ส่งผลช่วยลดค่าใช้จ่ายสุขภาพทางสาธารณสุข
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การดูแลสุขภาพแบบภูมิปัญญาไทย ด้วยการนำกล้วยมาใช้ในการดูแลสุขภาพเป็นวิถีชีวิตที่มีมาตั้งแต่เกิดจนชรา อีกทั้งกล้วยยังมีประโยชน์เกือบทุกส่วน ที่สามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ ตามหลักการแพทย์แผนไทยได้ด้วย
กล้วยนั้น มีสารสำคัญหลายชนิดเช่น โพแทสเซียม มีไฟเบอร์สูง และมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย ดังนั้นหากมองในมุมประโยชน์ของกล้วย ที่สามารถนำมาใช้ในทางสาธารณสุขจึงทำให้เกิดประโยชน์ของกล้วย 4 ด้าน ดังนี้
กล้วยกับการส่งเสริมสุขภาพ กล้วยกับการป้องกันโรค กล้วยกับการรักษาโรค และกล้วยกับการฟื้นฟูสุขภาพ
กล้วยกับการส่งเสริมสุขภาพ
กล้วยมีเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยลดริ้วรอยและความเสื่อมของเซลล์ วิถีภูมิปัญญาจึงนำกล้วยสุก 1 ผลมาบดผสมน้ำผึ้งพอกหน้า 15 นาที แล้วล้างออก เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ผิวจะเนียนนุ่ม แต่ต้องระวังไม่ให้เข้าตา เปลือกกล้วย ช่วยแก้ปัญหาข้อศอกด้าน ข้อเข่าด้าน
วิธีการทำ หลังจากอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายแล้ว ให้นำเปลือกกล้วยโดยนำด้านในของเปลือกกล้วยมาขัดถู และพอกบริเวณข้อศอกหรือข้อเข่า ทิ้งไว้ 10 -15 นาที แล้วล้างออก เนื่องจากเปลือกกล้วยมีสารลูทีน (Lutein) วิตามิน A และ E จะช่วยผลัดเซลล์ผิวและช่วยให้ผิวพรรณนุ่มชุ่มชื้น
กล้วยกับการป้องกันโรค กล้วยมีสารทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นฮอร์โมนเซโรโทนิน ที่ช่วยให้เกิดความสุขและอารมณ์ดี การกินกล้วยจึงช่วยปรับสมดุลร่างกาย คลายความเครียด
นอกจากนี้กากใยของกล้วยช่วยทำให้ขับถ่ายง่าย จึงควรกินกล้วยสุกวันละ 1 ผล ทุกเช้า กล้วยกับการรักษาโรค ผลของกล้วย ทั้งผลกล้วยสุกและกล้วยดิบ มีสรรพคุณตามรสของตัวยาอยู่ 2 อย่างหลัก ๆ คือ
1. ผลกล้วยน้ำว้าดิบหรือห่าม จะมีรสฝาด ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อหรือท้องเสียที่เกิดจากธาตุในร่างกายไม่สมดุล เช่น การรับประทานอาหารรสเปรี้ยวในปริมาณที่มากหรือการรับประทานอาหารที่ระบบทางเดินอาหารไม่คุ้นชิน แล้วทำให้มีอาการท้องเสีย
กรณีนี้จะสามารถใช้ กล้วยน้ำว้าดิบ หรือห่ามบรรเทาอาการได้ เนื่องจากสารแทนนินในกล้วยน้ำว้าดิบหรือห่าม มีสรรพคุณ ช่วยลดการหดเกร็งและลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ จะช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้
วิธีรับประทาน ให้รับประทาน ครั้งละ ½ – 1 ผล หรือฝานเป็นแว่น ๆ ตากแดดให้แห้ง รับประทานครั้งละ 10 กรัม ชงในน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น 120 – 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร หรือเมื่อมีอาการ
2. ผลกล้วยน้ำว้าสุก มีรสหวาน มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก เนื่องจากกล้วยน้ำว้าสุกอุดมไปด้วยกากใยอาหาร ซึ่งมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ จึงสามารถช่วยระบายท้องได้
วิธีรับประทาน ให้รับประทาน ครั้งละ 1-2 ผล แล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ กล้วยกับการฟื้นฟูสุขภาพ คุณแม่หลังคลอดหัวปลีของกล้วยมีสารอาหารที่สำคัญได้แก่ แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ซึ่งมีส่วนช่วยในการบำรุงโลหิต ในคุณแม่หลังคลอด และปลีกล้วยมีสารซาโปนิน(Saponins) และแทนนิน(Tannins) ที่อาจช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนโปรแลคตินในเลือด กระตุ้นต่อมน้ำนมให้มีการสร้างน้ำนมของคุณแม่หลังคลอด จึงควรนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารให้กับคุณแม่หลังคลอด เช่น แกงเลียงหัวปลี ต้มยำหัวปลี และยำหัวปลี
นอกจากนี้กล้วยมีสารซีโรโทนิน ที่ช่วยควบคุมความอยากอาหาร ช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากการรับประทานกล้วยจะทำให้รู้สึกอิ่มนาน จึงเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน และผู้มีโรคอ้วน และยังช่วยให้นอนหลับสบาย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับอีกด้วย
นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า กล้วยจึงเป็นผลไม้ที่ควรนำมาดูแลสุขภาพได้ประโยชน์สูงด้วยภูมิปัญญาไทย ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค ลดปัญหาทางการแพทย์และการสาธารณสุข
หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย หรือการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค สามารถติดต่อที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่ FACEBOOK กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.facebook.com/dtam.moph และ line @DTAM