Onlinenewstime.com : ฝูงนกที่เราเห็นบินสูงอิสระอย่างสวยงาม บนท้องฟ้า บางครั้งก็เป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงให้กับนักบิน โดยเฉพาะนกตัวโตขนาดใหญ่นั้น มีความเสี่ยงสูงมากที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ จากการบินเข้ามาชนเครื่อง จนทำให้ไม่สามารถควบคุมการบินได้ นั่นจึงเป็นที่มาของ แอปฯ “แผนที่นก” HAWK EYE ผลงานวิจัย ที่นำมาใช้ในสถานการณ์จริง “ด้านความปลอดภัยของการบิน”
“นักเรียนนายเรืออากาศ กิตติพงศ์ หนูนาค” และ “นักเรียนนายเรืออากาศ กิตติพงษ์ คะนึงรัมย์” โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เจ้าของผลงานชิ้นเอกนี้ ให้สัมภาษณ์ “เว็บไซต์ออนไลน์ นิวส์ไทม์” ถึงเบื้องหลังว่า ใช้ระยะเวลาถึง 9 เดือน ( ก.พ. 2565 – ต.ค. 2565 ) จนถึงปัจจุบัน กว่าที่แอปพลิเคชัน HAWK EYE (รุ่นแรก) จะเสร็จสมบูรณ์ในเบื้องต้น จนสามารถนำมาใช้ได้ในสถานการณ์จริง
แอปพลิเคชัน HAWK EYE เป็นงานการวิจัย การพัฒนาแอปพลิเคชันระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแผนที่นก สำหรับการจัดการด้านนิรภัยการบินของกองทัพอากาศ ที่พัฒนาขึ้นมาจาก 3 วัตถุประสงค์ คือ 1. ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินชนนก บริเวณใกล้เคียงพื้นที่กองบินของกองทัพอากาศ 2. ความเสี่ยงด้านนิรภัยการบินของอากาศยานในพื้นที่ที่มีแหล่งนก 3. ใช้ฐานข้อมูลพิกัดแหล่งนกและการประเมินความเสี่ยงในการทำการบินของอากาศยาน
จากจุดเริ่มตั้งแต่การหาข้อมูล การศึกษาข้อมูลนก และการอพยพของนก ประเภทของนกและสายพันธุ์ต่างๆที่ใช้เป็นหลักการ นำมาทำงานวิจัยนั้น ด้วยการเรียนในสาขา วิศวกรรมอุตสาหการและการจัดการการบิน จึงเรียกได้ว่า เป็นโจทย์ที่มีความท้าทายพอสมควร เนื่องจากเป็นองค์ความรู้ด้านเกี่ยวกับชีววิทยาของนก แต่ก็ได้นาวาอากาศเอกวีระชน เพ็ญศรี ที่เข้ามาช่วยเสริมในด้านการจัดหาข้อมูลที่เกี่ยวกับนก พร้อมเป็นที่ปรึกษาโครงการ
รวมถึงมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ นาวาอากาศเอก รองศาสตราจารย์ดร.เกียรติกุลไชย จิตต์เอื้อและนาวาอากาศโท รองศาสตราจารย์ดร. ฐาปนัต บัวภิบาล
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของเรื่องนี้ในปัจจุบัน ในแง่มุมของแนวคิด และการนำมาใช้ในสถานการณ์จริง ในด้านการศึกษาการประเมินความเสี่ยงสำหรับการเกิด Bird strike เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับความปลอดภัยของการบิน เนื่องจาก นก เป็นสิ่งที่เปรียบเสมือนธรรมชาติ ที่เราไม่สามารถบังคับได้แบบ 100 %
ปัจจุบันมีการนำมาใช้งานหรือยัง
ปัจจุบันแอปพลิเคชัน HAWK EYE (รุ่นแรก) เสร็จสมบูรณ์แล้ว และเบื้องต้น สามารถนำมาใช้ได้ในสถานการณ์จริง ยกตัวอย่าง หากนักบินเข้าแอปนี้เพื่อเช็คการพบนก ก่อนทำการบิน หากมีการพบนกที่ขวางเส้นทางการบิน นักบินสามารถเปลี่ยนเส้นทางการบินเพื่อหลีกเลี่ยงได้
ดังนั้นสิ่งที่พอจะทำได้ คือ การประเมินความเสี่ยง เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการทำการบินหรือก่อนทำการบิน โดยในแอปพลิเคชันจะเป็นการบันทึกข้อมูลการพบนก เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในเชิงสถิติและความน่าจะเป็นในการพบนกในพื้นที่โดยรอบสนามบิน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการทำการบินในครั้งต่อ ๆ ไป
วิธีการทำงานของเทคโนโลยีสารสนเทศ “แผนที่นก”
ในด้านวิธีการทำงานของแอปพลิเคชัน “Hawk Eye” นั้น เป็นแอปพลิเคชันที่มีการนำข้อมูลจาก Google Maps ในเรื่องของแผนที่ มาใช้สำหรับข้าราชการ กองทัพอากาศ (ทอ.) ในหน่วยบินต่าง ๆ และผู้ที่เกี่ยวข้อง มาใช้สำหรับบันทึกการพบนก
โดยมีตัวเลือกตั้งแต่ วัน เวลา สถานที่ (หน่วยบิน) จำนวน ชนิดนก จากนั้นแอปฯ จะทำการคำนวณค่าความเสี่ยงออกมาในรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ เป็น วงกลมสี โดยแบ่งเป็น 3 สี หมายถึง สีส้ม ค่าความเสี่ยงระดับสูง สีเหลืองระดับกลาง และสีเขียวคือระดับต่ำ ตามลำดับ นอกจากนี้ผู้ใช้งาน ยังสามารถเห็นวงกลมสีที่ User อื่น ได้ลงข้อมูลไว้แล้ว และสามารถย้อนดูข้อมูลในอดีตได้อีกด้วย
สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการสร้างผลงานชิ้นนี้
สำหรับในประเทศไทยงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำมาใช้ในการศึกษาเพื่อนำมาประยุกต์ในงานวิจัยชิ้นนี้ เรียกได้ว่าพบได้น้อยมาก จำเป็นต้องค้นหางานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากต่างประเทศ เช่น โมเดลการประเมินค่าความเสี่ยงที่เกี่ยวกับ Bird strike ทำให้ใช้เวลาในการศึกษามากขึ้น
ที่สำคัญ งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยที่จำเป็นต้องมีฐานข้อมูลที่มากเพียงพอสำหรับการนำมาใช้ในการประเมินความเสี่ยง โดยงานวิจัยนี้ได้ใช้ฐานข้อมูลจาก Bird Map ที่สร้างโดย ศูนย์ซอฟต์แวร์กองทัพอากาศร่วมกับสำนักนิรภัยทหารอากาศ ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อจำกัด ในด้านการบันทึกข้อมูลการพบนก ที่ยังไม่เพียงพอในบางครั้งและบางพื้นที่ จึงทำให้ค่าความเสี่ยงที่คำนวณได้อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง
ประเด็นต่อมา สืบเนื่องจากข้อมูลการพบนกใน Bird Map ส่วนใหญ่ จะระบุว่า “ไม่ทราบชนิดของนก” ซึ่งทำให้ตัวแปรในด้านน้ำหนักของนก ขาดหาย เนื่องจากบางครั้ง นักบินไม่สามารถมองเห็นนกได้ทันและชัดเจนว่าเป็นชนิดใด ส่งผลให้ไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้
เบื้องต้นทางผู้วิจัยได้ใช้น้ำหนักแบบ “Dummy” เพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงได้ โดยต่อไป ในปีการศึกษาหน้า จะมีการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัย จะมีการพิสูจน์ว่าน้ำหนัก “Dummy” เป็นค่าที่มีนัยสำคัญ หรือไม่
เมื่อถามว่างานวิจัยนี้ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่
นักเรียนนายเรืออากาศกิตติพงศ์ หนูนาค บอกว่า น่าเสียดายที่ในช่วงเวลาการสืบค้นข้อมูลและการลงพื้นที่ยังอยู่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 จึงทำให้ไม่สามารถออกไปสำรวจได้ อีกทั้งเดิมทีแล้ว การสำรวจข้อมูลนก ต้องใช้เวลานานพอสมควร จึงหาทางออกโดยได้ประสานกับ ศูนย์ซอฟต์แวร์ กองทัพอากาศ ที่มีการศึกษาทางด้าน Bird Map อยู่แล้ว เพื่อขอข้อมูลการบันทึกการพบนก ในช่วงประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา
พร้อมเล่าให้ฟังถึงวิธีการประเมินความเสี่ยงของการบินกับนก ที่นำมาใช้ในแอปพลิเคชัน HAWK EYE ว่า หลังเสร็จจากขั้นตอนการเก็บข้อมูลแล้ว ยังมีเรื่องสูตรของการคำนวณอีกด้วย โดยจะนำค่าน้ำหนักของนกมาคิดด้วย หมายความว่า ถ้าพบเจอ “นกสายพันธุ์ที่มีน้ำหนักมาก” ค่าความเสี่ยงก็จะมีมากขึ้น
เช่นเดียวกัน เนื่องจาก “เครื่องบินที่บินด้วยความเร็วสูง” บวกกับ “น้ำหนักของนก” ที่มีมาก ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายกับอากาศยานได้มากกว่า “นกที่มีน้ำหนักน้อย”
แนวคิดการนำไปต่อยอด และใช้งานในอนาคต
ในอนาคตจะมีการต่อยอดใน 4 ด้าน คือ 1. ประสิทธิภาพของการประมวลผลค่าความเสี่ยง โดยเพิ่มตัวเลือกในการระบุความกว้างของปีกนก เพื่อประเมินความน่าจะเป็นของชนิดนก ในกรณีที่ผู้ลงข้อมูลไม่ทราบชนิดของนก เพิ่มตัวเลือกของอากาศยาน เนื่องจากนกขนาดเล็กบางชนิดแทบไม่มีผลกระทบเมื่อชนกับ อากาศยานขนาดใหญ่ (ประเภทลำเลียงเป็นส่วนใหญ่) และอีกปัจจัย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทีมวิจัยในปีการศึกษาหน้า (นนอ. ชั้นปีที่ 3 ในปัจจุบัน )
2. การพัฒนาแอปพลิเคชันให้สามารถใช้งานได้ทั้ง 2 ระบบคือ ไอโอเอสและแอนดรอยด์ โดยปัจจุบันใช้งานได้เพียงระบบเดียวคือแบบ แอนดรอยด์ ที่กำลังจะอัปเดตลง Google play store
3. การพัฒนา UI ให้ง่ายต่อการใช้งาน มีการแนะนำการใช้งาน การแจ้งเตือนข้อมูลเพื่อทราบ ที่จำเป็นสำหรับนักบิน
4. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลค่าความเสี่ยง เช่น การใช้ดาวเทียม ในการตรวจจับนก แบบ Real-time (หากเป็นไปได้ เนื่องจากในสหรัฐอเมริกามีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการตรวจจับนกแบบ Real-time แต่ใช้งบประมาณที่สูงมาก)
“นักเรียนนายเรืออากาศ กิตติพงศ์ หนูนาค” และ “นักเรียนนายเรืออากาศ กิตติพงษ์ คะนึงรัมย์” บอกว่า เป็นความภาคภูมิใจของทีมงานในการจัดทำเทคโนโลยีสารสนเทศ “แผนที่นก” เพราะเป็นงานวิจัยที่ใช้ความทุ่มเทและความพยายามอย่างสูง ในการค้นคว้าและศึกษา เนื่องจากในประเทศไทยมีข้อมูลที่จะนำมาใช้ได้น้อยมาก และแต่ละชนิดของนก จะมีข้อมูลที่แตกต่างออกไปในด้าน ขนาด น้ำหนัก
อีกทั้งเป็นงานวิจัย ที่ทำเพื่อสนองนโยบายของท่าน ผบ.ทอ. ในการจัดแนวทางการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินชนนกในกองทัพอากาศ และเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับนักเรียนนายเรืออากาศ ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ “แผนที่นก” อีกด้วย
มองการนำไปต่อยอดแบบนอกกรอบของงานวิจัยนี้
เนื่องจากงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับนก เทคโนโลยีสารสนเทศแผนที่นก การประเมินความเสี่ยง สามารถนำไปต่อยอดในด้านการทำแผนที่นก เพื่อใช้ในงานด้านต่าง ๆ เช่น การเกษตร (สำหรับการประเมินจำนวนนก ที่มีผลต่อผลผลิตทางการเกษตร ในพื้นที่) เป็นต้น
ทั้งนี้เทคโนโลยีสารสนเทศ “แผนที่นก” ค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ ในประเทศไทย การที่ได้เริ่มต้นทำงานวิจัยนี้ หวังว่าจะเป็นการกระตุ้น และส่งเสริมให้ในประเทศไทยมีการศึกษาด้านนี้เป็นวงกว้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำมาใช้ประยุกต์ในงานด้านอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีผู้เชี่ยวชาญในด้านนกอยู่แล้ว แต่ก็อยากให้มีหน่วยงานในการสำรวจนก ประจำปี เพื่อคาดการณ์จำนวนนกเพื่อนำมาใช้ในการประเมินความเสี่ยง ในบริเวณโดยรอบสนามบิน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่สำรวจนกโดยเฉพาะ
ความสำคัญของแผนที่นกจากกรณีศึกษาในอดีต
กรณีศึกษา สาเหตุอุบัติเหตุ F5 ตก เกิดจากนกขนาดใหญ่บินชนที่ด้านหน้าครอบของห้องนักบิน ทำให้ไม่สามารถควบคุมการบินของเครื่องบินได้
เหตุการณ์ในวันที่ 5 ธ.ค. 2564 พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าจากกรณีที่เครื่องบินขับไล่แบบที่ 18ค (F-5F) สังกัดฝูงบิน 211 กองบิน 21 ประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติภารกิจการบินยุทธวิธีประยุกต์ ณ บริเวณสนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จ.ลพบุรี ว่า
วันนี้นักบิน นาวาอากาศโทสุทธิเมศ อ่วมมา รู้สึกตัวดี และได้สื่อสารกับภรรยาถึงสาเหตุที่จำเป็นต้องสละเครื่องด้วยการเขียนบอกว่า เครื่องบินชนของแข็ง ทำให้ฝาครอบหน้าห้องนักบินด้านหน้าแตก (Canopy) แล้วมีนกตามมา เลือดสาดเข้ามาในห้องนักบิน (Cockpit) และกระทบเข้าที่หน้าของตนเอง จึงรีบบังคับเครื่องบินหลบออกจากแหล่งชุมชน และเครื่องบินไม่สามารถควบคุมได้ (Uncontrol) เพราะด้วยความเร็วของเครื่องบินประมาณ 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บวกกับความแรงของลมที่ทะลุผ่านเข้ามายังห้องนักบิน จึงรีบดีดตัวออกมาจากเครื่องบิน (Eject) ในท่าเกือบหงายท้องและความสูงต่ำ รวมทั้งนักบินได้เขียนขอโทษผู้บัญชาการทหารอากาศที่ไม่สามารถนำเครื่องบิน บินกลับมาลงสนามบินให้ปลอดภัยได้ด้วย