fbpx
News update

ใช้ AI ช่วยไขคดี ครั้งแรกของโลก วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ โชว์แอปฯ “ตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย AI” วิเคราะห์ผลแม่นยำใน 62 วิ

Onlinenewstime.com : คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) เปิดตัวแอปฯ “ตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย AI” แอปพลิเคชันแรกของโลก ที่สามารถตรวจสอบหัวกระสุนปืน ณ สถานที่เกิดเหตุจริง พร้อมแสดงผลการวิเคราะห์ที่แม่นยำใน 62 วินาที ด้วยเทคโนโลยีเอไอ หนุนลดระยะเวลาในขั้นตอนของการสืบสวน เหตุกระบวนการตรวจสอบตามปกติ ใช้เวลานานถึง 30 วัน

โดยระบบเอไอในแอปฯ ได้ผ่านการทดสอบความแม่นยำสูงถึง 91-98% (ขึ้นอยู่กับยี่ห้อปืนที่ใช้ยิง) โดยอ้างอิงการเก็บตัวอย่างของลูกกระสุนทั้งหมด 898 ลูก จากปืนที่มีสถิติการก่อคดีสูงที่สุด 8 ยี่ห้อ ทั้งนี้ แอปฯ ดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนของการนำไปทดลองใช้งานจริง โดยจะต้องใช้งาน ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ผลแบบเดิม เพื่อให้เกิดความถูกต้องสูงสุด ในการทำงานของเจ้าหน้าที่สืบสวน  ทราบถึงยี่ห้อของปืนที่ใช้ในการก่อคดี สามารถจำกัดขอบเขตในการสืบสวน และติดตามตัวคนร้ายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

รศ. ดร. จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) และอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. โดย นักศึกษาปริญญาตรี ที่ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม “ตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย AI” แอปพลิเคชันแรกของโลก ที่สามารถตรวจสอบหัวกระสุนปืน ณ สถานที่เกิดเหตุจริง พร้อมแสดงผลการวิเคราะห์ ที่แม่นยำใน 62 วินาที ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เพื่อลดระยะเวลาในขั้นตอนของการสืบสวน

เนื่องจากในกระบวนการการตรวจสอบตามปกติ จะใช้เวลานานถึง 30 วัน ผ่านการเก็บวัตถุพยานอย่าง “ลูกกระสุนปืน” ไปตรวจสอบตำหนิร่องเกลียวสันเกลียวที่เกิดจากกลไกการทำงานของปืน ภายในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะต้องใช้เครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ และเมื่อผลออกมาแล้ว จึงจะส่งต่อให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์เพื่อทำการสืบสวนและสรุปสำนวนคดีต่อไป

โดยแอปฯ ดังกล่าว เป็นการนำ AI เข้ามาช่วยในการประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งขั้นตอนในตรวจสอบ คือ นำลูกกระสุนที่ได้จากที่เกิดเหตุ ใส่ลงไปในเครื่องมือ ที่มีมอเตอร์ที่ถูกควบคุมด้วยระบบฮาร์ดแวร์ จากนั้นใช้สมาร์ตโฟนถ่ายภาพตำหนิ “ร่องเกลียว-สันเกลียว” ที่เกิดขึ้นบนลูกกระสุนปืน ผ่านแอปพลิเคชันจำแนกหัวกระสุนปืน

โดยมอเตอร์ของเครื่องมือ จะทำงานด้วยการหมุน 360 องศา เพื่อเก็บภาพแบบพาโนรามา ภายใน 62 วินาที จากนั้นระบบจะทำการวิเคราะห์และแสดงผลออกมาให้เห็นว่า ลูกกระสุน ถูกยิงมาจากปืนยี่ห้อใด ทั้งนี้ ระบบ AI

ในงานวิจัยดังกล่าว ได้ผ่านการเก็บตัวอย่างของลูกกระสุนทั้งหมด 898 ลูก จากปืนที่มีสถิติการก่อคดีสูงที่สุด 8 ยี่ห้อ ซึ่งได้รับความร่วมมือด้านข้อมูลจาก นิสิตปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จึงเป็นผลให้ผลลัพธ์ของงานวิจัย แม่นยำและถูกต้องสูงถึง 91-98% (ขึ้นอยู่กับยี่ห้อปืนที่ใช้ยิง)

อย่างไรก็ดี แอปฯ “ตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย AI” อยู่ในขั้นตอนของการนำไปทดลองใช้งานจริง โดยจะต้องใช้งาน ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ผลแบบเดิม เพื่อให้เกิดความถูกต้องสูงที่สุด ซึ่งแอปฯ ดังกล่าว จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สืบสวน ทราบยี่ห้อของปืนที่ใช้ในการก่อคดี และสามารถจำกัดขอบเขตในการสืบสวน ตลอดจนติดตามตัวคนร้ายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

โดยในอนาคต เตรียมต่อยอดงานวิจัย ด้วยการเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถระบุขนาดของปืนได้มากขึ้น เนื่องจากงานวิจัยในตอนนี้ เก็บตัวอย่างไปเพียงขนาดเดียวคือ 9 มม. หรืออาจจะสืบค้นได้ว่า เคยมีประวัติการก่อคดีในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ้างหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทย มีอัตราการเกิดอาชญากรรมเกี่ยวกับปืนค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยที่ 30,000 – 40,000 คดีต่อปี รศ. ดร.จาตุรงค์ กล่าว

สำหรับงานวิจัย “ระบบตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย AI” ถือเป็นครั้งแรกของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร IEEE Access ซึ่งอยู่ใน Quartile ที่ 1 ของการจัดอันดับวารสารของ Scientific Journal Ranking (SJR) อีกด้วย นับเป็นความภาคภูมิใจของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ และสามารถช่วยเหลืองานทางด้านกระบวนการยุติธรรมได้ รศ. ดร.จาตุรงค์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจข้อมูลสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ลิงค์ หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. โทรศัพท์ 094-664-7146 ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ TSE ได้ที่ Facebook และ เว็บไซต์