fbpx
News update

สถานการณ์โควิด ดันธุรกิจฟู๊ดเดลิเวอรี่เติบโต เร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อม

Onlinenewstime.com : สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ดันธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการพร้อมส่ง แบบฟู๊ดเดลิเวอรี่ หรือเป็นพันธมิตรกับภาคธุรกิจที่ให้บริการส่งอาหาร เติบโตแบบก้าวกระโดด

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อันเป็นโรคติดต่ออันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ได้ออกมาตรการคุมเข้มการระบาด มีการคัดกรอง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้านเป็นหลัก ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการรวมกันของคนจำนวนมาก เพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดขยายไปในวงกว้าง

รวมถึง ขอความร่วมมือร้านอาหารต่างๆ จำกัดการให้บริการเฉพาะผู้ที่ซื้อกลับไปทานที่อื่น หรือใช้บริการพนักงานส่งอาหาร (Food Delivery) เท่านั้น ซึ่งจากมาตรการดังกล่าว ทำให้ธุรกิจร้านอาหาร ที่มีการให้บริการส่งอาหารแบบฟู๊ดเดลิเวอรี่ มียอดสั่งอาหารเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด อีกทั้ง ระบบดังกล่าว ยังสอดรับกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่เน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว ประหยัดเวลา พร้อมเสริฟ..พร้อมทาน ทำให้ระบบการให้บริการแบบฟู๊ดเดลิเวอรี่ ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง”  

 “จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการร้านอาหารหลายราย ที่มีการให้บริการแบบฟู๊ดเดลิเวอรี่ หรือเป็นพันธมิตรกับภาคธุรกิจ ที่ให้บริการส่งอาหาร พบว่า มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดประมาณ 2-3 เท่าตัว ขณะเดียวกันก็มีผู้บริโภคซื้ออาหารกลับไปทานที่บ้าน เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

รวมทั้ง ได้พูดคุยกับพนักงานส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ พบว่า ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีลูกค้าใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ปกติจะวิ่งรถช่วงเวลาประมาณ 10.00 – 17.00 น. รายได้ประมาณ 250 – 300 บาท แต่พอเข้าสู่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ขยายเวลาวิ่งรถตั้งแต่ 07.00 – 21.00 น. เนื่องจากมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น รายได้ที่ได้รับก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกันเป็นประมาณ 500 – 700 บาท ต่อวัน”

รมช.พณ.กล่าวต่อว่า “ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร จึงควรมีการปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ดูตัวอย่างจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของผู้คนต้องเปลี่ยนไป เน้นการสั่งอาหารแบบฟู๊ดเดลิเวอรี่มากขึ้น นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับร้านอาหาร ที่มีการให้บริการดังกล่าว ซึ่งทั้งร้านอาหารผู้ให้บริการ พนักงานผู้ส่งอาหารแบบฟู๊ดเดลิเวอรี่ และผู้บริโภคที่สั่งอาหาร ต่างได้รับความพึงพอใจ เข้าลักษณะ win win win ทั้ง 3 ฝ่าย”

“จึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งพัฒนาและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการร้านอาหารของไทย ให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยบริหารจัดการร้านค้า ส่งเสริมให้เชื่อมโลกออฟไลน์และออนไลน์ (O2O) เข้าด้วยกัน เน้นทำการตลาด ผ่านระบบฟู๊ดเดลิเวอรี่ ควบคู่ไปกับการบริการที่ดีเยี่ยมภายในร้าน

รวมทั้ง มีระบบการชำระเงินแบบออนไลน์ ซึ่งจะทำให้การบริการของผู้ประกอบการร้านอาหารของไทย ครบวงจรมากขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด เป็นการเพิ่มยอดขายและรายได้ให้แก่ธุรกิจในระยะยาว โดยหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลงให้กรมฯ รีบดำเนินการทันที”

“เบื้องต้น กรมฯ เตรียมเพิ่มศักยภาพ ผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยภายใต้โครงการ “Smart Restaurant 2020” โดยจะมีการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ จำนวน 2 รุ่น แบ่งเป็น

1) รุ่นมือใหม่ สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่ต้องการเพิ่มองค์ความรู้ระดับพื้นฐาน เหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดยเนื้อหาจะเน้นเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ (Restaurant Branding) พื้นฐานการจัดการร้านอาหาร กลยุทธ์ธุรกิจเดลิเวอรี่ การทำการตลาดด้วยสื่อโซเชียลมีเดีย เทคโนโลยีสำหรับร้านอาหาร การจัดการสต็อก/เมนูพื้นฐาน และการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าเบื้องต้น”

“2) รุ่นมือโปร สำหรับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ที่มีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหารอยู่แล้ว แต่ต้องการเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ๆ เช่น การปรับตัวในยุค 5G การวางแผนระบบร้านค้า และการขยายสาขา เทคนิคการจัดการบัญชีร้านอาหาร การทำการตลาดด้วยสื่อโซเชียลมีเดียระดับสูง การบริหารการตลาด และกลยุทธ์การทำการตลาดผ่านระบบเดลิเวอรี่ และการประชาสัมพันธ์ร้านค้า” 

“สำหรับการทำการตลาดแบบ O2O คือ การเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำ สร้างฐานลูกค้าประจำ ขยายฐานลูกค้าใหม่ และเพิ่มยอดขาย สิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กัน คือ ต้องเชื่อมโลกออฟไลน์ เข้ากับโลกออนไลน์อย่างลงตัว ผ่านระบบเดลิเวอรี่ ที่จะช่วยสร้างผลกำไรให้ธุรกิจในระยะยาว

ฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น ธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ก้าวทันโลกธุรกิจ ก็สามารถที่จะเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคได้ อย่างไม่ยากด้วยเช่นกัน” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563) มีนิติบุคคล ที่ประกอบธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร จำนวนทั้งสิ้น 15,260 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 106,461.97 ล้านบาท โดยในปี 2563 (เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์) มีผู้จดทะเบียนธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร ทั้งสิ้น 416 ราย ทุนจดทะเบียน 852.17 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 2,113 ราย ทุนจดทะเบียน 4,272.13 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 2,058 ราย ทุนจดทะเบียน 6,633.47 ล้านบาท และปี 2560 จำนวน 1,916 ราย ทุนจดทะเบียน 4,396.19 ล้านบาท   

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 5963, e-Mail, สายด่วน 1570 และ เว็บไซต์